
🙏ประเพณีการกวนข้าวทิพย์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ที่สอดแทรกเข้ามาในพิธีกรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือนสิบ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็น ราชธานีและได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาเลิกราไปในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ และมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ปัจจุบันนิยมทำกันในทุกภาคของประเทศไทย โดยภาคกลางนิยมจัดทำกันในวันวิสาขบูชา แต่ในภาคอีสานนิยมทำกันในวันก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน คือวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑
🙏จากความเชื่อในครั้งพุทธกาลที่นางสุชาดาปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระพุทธองค์ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นของทิพย์ของวิเศษ เมื่อทำขึ้นจึงเรียกว่า ข้าวทิพย์ ชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำในเทศกาลออกพรรษา ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา ถ้าใครได้รับประทานจะเป็นสิริมงคล กับตนเอง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยแรงศรัทธา แรงใจ ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันจากชาวบ้าน จึงจะสำเร็จลงได้ มูลเหตุที่ทำในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาและรับเสด็จพระพุทธองค์ที่เสด็จจากจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
🙏พิธีกวนข้าวทิพย์ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในหมู่ของชาวพุทธทั่วไป เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ๑ วัน โดยถือว่ามีผลอานิสงส์มาก
🙏ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ข้าวทิพย์นี้เชื่อกันว่าเมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคลแด่ผู้ทำและผู้บริโภค สมควรจะเซ่นสรวงเทพารักษ์ ผู้ที่ได้บริโภคข้าวทิพย์แล้วจะประสบโชคลาภต่าง ๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล (พระครูพิมลกิตติคุณ (เบี้ยว สมบัติทองใบ), ๒๕๖๔ : ๔๗)

การถ่ายทอดพิธีกวนข้าวทิพย์จากสระบุรีสู่แสงดาว ข้าวทิพย์ Festival ศรัทธา สืบสาน สร้างสรรค์
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพิธีกวนข้าวทิพย์ ณ วัดดอนพุด จังหวัดสระบุรี สู่การถอดองค์ความรู้และกระบวนการพิธีกวนข้าวทิพย์ ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สะท้อนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและศรัทธาของชุมชนในวันวิสาขบูชา ซึ่งทางคณะทำงานได้ทำการบันทึกขั้นตอน พิธีกรรม ตลอดจนวัตถุดิบและวิธีการกวนข้าวทิพย์อย่างละเอียด เพื่อนำกลับมาถอดองค์ความรู้และสูตรข้าวทิพย์ที่เหมาะสมทั้งในด้านรสชาติ คุณค่าทางวัฒนธรรม จึงได้องค์ความรู้การถ่ายทอดองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้ในบริบทวัดแสงดาว ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติม https://www.facebook.com/share/p/15uNZQss6o/




















