ประวัติเกียรติยศและผลงานศิลปินแห่งชาติ (น้าโย่ง เชิญยิ้ม)

นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือโย่ง เชิญยิ้ม หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “น้าโย่ง” น้าโย่งเป็นคนพิษณุโลก มีภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่บ้านบึงพร้าว ตำบลไชยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เกิดเมื่อวันที่  ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๑ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ๗ โรงเรียนวังทองพิทยาคม เริ่มฝึกร้องเพลงพื้นบ้าน (เพลงฉ่อย) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๔

พ.ศ. ๒๕๑๖ เริ่มฝึกร้องลิเก คณะศักดิ์นรินทร์ดาวร้ายที่พิษณุโลกเป็นตัวโจ๊กใช้ชื่อว่า “ก้านยาว เก้ากระรัช”
พ.ศ. ๒๕๒๙ เดินท่างเข้ากรุงเทพมหานครตามล่าหาฝัน เริ่มต้นเป็นนักแสดงตลกคณะน่ารัก/คณะเด่นดวงดาว
พ.ศ. ๒๕๒๙ นักแสดงตลกคณะน่ารัก กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๕๓๑ นักแสดงตลกคณะเด่นดวงดาว (ใช้ชื่อโย่ง พิษณุโลก) กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๕๓๘ มีคณะเป็นของตนเอง ชื่อโย่ง พิษณุโลก
พ.ศ. ๒๕๓๙ เล่นตลกอยู่รายการทีวี ตะลุย ตลาด ตลก และ รายการ “ก่อนบ่ายคลายเครียด”
พ.ศ. ๒๕๓๙ เล่นตลกอยู่รายการที่วีมุมหัวเราะ ต่อเป็นเป็นรายการก่อนบ่ายคลายเครียด
พ.ศ. ๒๕๔๑ เปลี่ยนชื่อจาก “โย่ง พิษณุโลก” เป็นชื่อ “โย่ง เชิญยิ้ม” และเป็นที่รู้จักผ่านผลงานละคร/โฆษณา/ภาพยนตร์/ทอล์กโชว์ จำนวนมาก
พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดทอล์คโชว์เดี่ยว ชื่อ โย่งทอล์ค ตอน แอดวานซ์ ไรสารเครียด ต่อมาก็จัดทอล์คโชว์ ถึงโย่งทอล์ค
พ.ศ. ๒๕๕๑ รายการทีวีคุณพระช่วย (ช่วงจำอวดหน้าม่าน)

พ.ศ. ๒๕๔๒ รางวัลเกียรติคุณผู้ได้รับรางวัลดีเด่นในการพิจารณาผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ครั้งที่ ๑๗ จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติสำนักงานนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. ๒๕๔๗ รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม จากหนังสือพิมพ์พัฒนาเศรษฐกิจ
พ.ศ. ๒๕๔๙ รางวัลเกียรติยศ ศิลปะการพูดดีเด่นและสร้างสรรค์สังคมสาขานักแสดงตลก
พ.ศ. ๒๕๕๒ ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ. ๒๕๕๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ พระราชทานรางวัล “เทพทอง” ครั้งที่ ๑๑ ในฐานะพิธีกรรายการคุณพระช่วย ณ ศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวัง
พ.ศ. ๒๕๕๔ รางวัลพระราชทานโล่เกียรติคุณ แก่การแสดงจำอวดหน้าม่าน ผู้มีผลงานกิจกรรมนันทนาการดีเด่น ประเภทละครและการแสดง จากกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
พ.ศ. ๒๕๕๕ รางวัล “ระฆังทอง” (บุคคลแห่งปี) จาก สมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท.)
พ.ศ. ๒๕๕๘ รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นสู่สาธารณะ ด้านส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านจาก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. ๒๕๕๘ รางวัลเกียรติยศ “หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงทองคำ” (ผู้ผลิตผลงานดีเด่นยอดเยี่ยมแห่งปี) จาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พ.ศ. ๒๕๖๒ ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
พ.ศ. ๒๕๖๖ รางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง การแสดงพื้นบ้าน – เพลงฉ่อย พ.ศ. ๒๕๖๖

น้าโย่งเป็นคนพิษณุโลก บ้านบึงพร้าว ตำบลไชยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ชีวิตในวัยเด็กก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่กับเขาเลย  เกิดมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ มีแม่คนนึง พ่อคนนึง ไม่มีพี่ ไม่มีน้อง เป็นลูกคนเดียว พ่อผมเสียชีวิตตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ อยู่กับแม่ ๒ คนมาตลอด เรียนโรงเรียนที่บ้าน บ้านไชยนาม โรงเรียนบึงพร้าว 
จนจบป.๗ สูงกว่า ป.๖ เขาเรียกว่าประถมตอนปลาย ป.๗ บ้านเรามีฐานะไม่ได้ร่ำรวย จนแบบถาวรเป็นเวลานานพออยู่พอกิน มีอาชีพทำไร่ ทำนา เลี้ยงควาย ตอนเล็กๆ ไม่ค่อยแข็งแรงแต่ก็ต้องเอาแรงช่วยแม่

พอดีมีป้านกหวีด ชอบร้องเพลง เขาเป็นเพลงฉ่อยมีคณะเล่นให้ชาวบ้านได้ดูได้ฟังก็สนุกสนาน ร้องกันเฮฮา เราก็ชอบบ้าง น้าโย่งเป็นคนอารมณ์ดีตั้งแต่เด็ก  ก็ได้ฟังและเรียนรู้การร้องเพลงฉ่อย เพราะมีความรู้สึกสนุกสนานและอยากสร้างความสุขให้คนดู  สมัยตอนน้าโย่งอยู่ ป.๕ อายุประมาณ ๑๑ ขวบ ป้าหวีดได้หัดเพลงฉ่อยให้กับลูกหลาน เราก็เป็นหนึ่งในลูกหลาน เพราะป้านกหวีดเป็นพี่สาวของพ่อ น้าโย่งเลยได้หัดเพลงฉ่อยจากป้านกหวีด  ฝึกหัดจนพอมีงาน

จากนั้นประมาณ ๕ ปี ความนิยมเพลงฉ่อยก็เริ่มลดลง  น้าโย่งจึงได้หัดเรียนลิเก น้าโย่งเป็นคนชอบดูลิเกอยู่แล้ว  ได้ไปฝึกหัดลิเกกับครูหอม  หัวเล็ก หรือครูติ ที่บ้านบ่อ ไปทางทรัพย์ไพรวัลย์  หลังจากหัดแล้วคุณครูบอกว่าน้าโย่งเป็นพระเอกไม่ได้ เนื่องจากรูปร่างหน้าตา ขี้เหร่ ผอม ดำ เสียงก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เขาจึงให้เล่นเป็นตัวโจ๊ก  เมื่อเล่นได้ก็ไปเร่เล่นลิเกกับคณะอื่น ๆ แถววัดท่ามะปรางบ้าง ไปผสมโรงกับคณะอื่น ๆ บ้าง ได้ไปอยู่กับคณะเฉลิมชัยฤชา ล่าสุดก่อนเข้ากรุงเทพได้ไปอยู่กับคณะศักรินทร์ดาวร้าย ลิเกดังบ้านเรา  น้าโย่งใช้ชื่อว่าตลกก้านยาว อยู่กับเขาหลายปี ก็พอมีชื่อเสียงขึ้นมาให้รู้จักบ้าง

เมื่อเล่นไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีความฝันอยากเป็นตลก จนนอนฝันว่าได้เล่นตลกกับคณะเชิญยิ้ม อยากทำให้มีความสุขมาก อยากไปเล่นกรุงเทพแต่ก็ไม่เคยไป  จนได้รู้จักสมหมาย  เจริญสุข เขาได้มาเล่นกับศักรินทร์ดาวร้าย เขาเป็นเพื่อนกัน เขาเคยเล่นอยู่กรุงเทพ  น้าโย่งเลยคุยกับสมหมาย เจริญสุข ว่า “ผมอยากเล่นตลก ทำยังไงดี”  สมหมายก็พอรู้จักคนวงการตลกอยู่บ้าง น้าโย่งจึงได้ตัดสินใจจะเข้ากรุงเทพ

เมื่อตัดสินใจเข้ากรุงเทพ น่าโย่งต้องขายรถมอเตอร์ไซต์ที่ใช้ในสมัยนั้น จำได้ว่ายี่ห้อ ยามาฮ่าเมดสีแดง แล้วเอาเงินแบ่งกับยายสม ก็คือ ภรรยา  ให้ยายสมอยู่บ้าน แล้วน้าโย่งก็ไปเผชิญโชคในกรุงเทพคนเดียว  มีทองตัวติดไปแค่ ๑ บาท เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๙ น้าโย่งเข้าไปสมัครอยู่หลายคณะ แต่ก็ไม่มีใครรับ เนื่องจากคณะเขาก็เต็มกันหมด ไปคณะเทพ โพธิ์งาม เชิญยิ้ม ชวนชื่นของพ่อดม  คณะเพชรดาราฉาย  ก็เต็มหมด แต่น้าโย่งก็ไม่ท้อ เพราะน้าโย่งมีความฝันขอให้ได้เล่น   เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ได้โอกาสการทำงานจากคณะน่ารัก ตอนนั้นน้าโย่งอยากเล่นทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเล่นได้หรือไม่  ก็เดินไปตามฝัน คิดแต่ว่าเดี๋ยวเราต้องเล่นให้ได้ แม้จะเริ่มจากตีฉิ่ง ตีฉาบ จัดชุดให้เขาก่อน ทำทุกอย่างให้เขา แม้ตอนที่อยู่บ้านเราก็พอมีชื่อเสียงอยู่บ้าง ยังไงก็จะทำแม้ความฝันนั้น แม้ฝันจะไม่เป็นจริงก็จะทำ เมื่ออยู่กับคณะน่ารัก มุกแรกที่เขาให้เล่นเป็นตัวนางมณโฑ  ทำให้เราต้องมีการปรับตัวเพราะไม่รู้ว่าจะเล่นอย่างไร บรรยากาศเมื่อเล่นอยู่บ้านเรา มีผู้คนรู้จักเรา เขาจะเตรียมปูเสื่อปูสาดเพื่อรอเราเล่นลิเกเป็นตัวโจ๊ก จะได้หัวเราะ เพราะเราเป็นตลกอยู่ตัวเดียว  แต่เมื่อเล่นเป็นตลกบนเวที ทุกคนจะเป็นตลกหมดเลย จึงได้งงว่าเขาเล่นตลกกันอย่างไร จากเดิมที่เคยใช้วิชาความรู้จาก ๑ ถึง ๑๐  เมื่อมาเล่นตลกครั้งนี้จึงต้องปรับใช้อาจจะเริ่มจาก ๘ ไป ๖ ไป ๔ ไป ๗ ต้องสลับกันใหม่หมดเลย ปรับใช้ใหม่ 

 ดังนั้นน้าโย่งจึงไม่อายเลยกับการที่เราไม่รู้และถาม ถามเขาว่าเล่นอย่างไร  กลางวันก็ฝึกซ้อม จนกระทั่งเล่นกันเข้ากับเขา จึงได้เริ่มสนุกขึ้น ทำให้คณะของเขาเริ่มฟูขึ้น มีงานดีขึ้น  

น้าโย่งเล่นกับคณะน่ารักได้เกือบปียังไม่ครบปี  คณะใหญ่เขาจะตั้งคณะกัน คือ เด่น ดอกประดู่ กับยาว อยุธยา เขาแยกมาจากเทพ โพธิ์งาม ยอด นครนายก กับตุ้ยตุ่ย สี่ดาว เขาแยกมาจากคณะสี่ดาว  ด้วยความที่เขาแยกมา ก็เลยขาดตลกอีกหนึ่งคนก็จะครบ ๕ คน เขาจึงโทรมาตามบ้านที่เราเช่า จะโทรหาอีกคนหนึ่ง แต่เรารับโทรศัพท์เขา เขาเคยเห็นเราเล่นตลกจึงถามเราว่า จะเอาไหม  โดยพี่ยาว อยุธยาเป็นคนชวน ก็รับปากเขาไว้ก่อน โดยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เขาถามว่าใครรับสาย ก็เลยบอกว่ายาวครับผม ก็เลยกลายเป็นยาวกับยาวคุยกัน พอตอนจะไปก็เริ่มหนักใจ แม่เคยปลูกฝังเราไว้ จนเราไม่รู้สึกว่าฝืนแล้วเป็นความกตัญญูรู้คุณ ณ ตอนที่เราไม่มีที่อยู่ คณะน่ารักมีความกรุณารับเราไว้ ทำให้เราสำเร็จ ณ วันนั้น แล้วอยู่ ๆ เราจะไปจากเขา มันเป็นการหนีผู้มีพระคุณ รู้สึกกระอักกระอ่วนมาก มีความเครียดเป็นอย่างมาก นอนไม่ค่อยหลับ  เมื่อตื่นตอนเช้าไปพบพี่ในคณะ ชื่อว่าพี่ปี้  กำลังนั่งซักผ้าอยู่  จึงได้ถามพี่ปี้ว่า  “ถ้าตลกคณะใหญ่ ๆ ชวนพี่ไปอยู่ด้วย พี่จะไปไหม” เขาเงยหน้ามา รีบบอกว่า “จะอยู่ทำไมล่ะ”  ทำให้เราคิดว่าขนาดพี่เขายังไม่อยู่กับเราเลย แล้วเราเมื่อมีโอกาสแล้ว เราจะไม่ไปเหรอ ส่วนบุญคุณ เราไม่ลืมอยู่แล้ว จึงตัดสินใจไป  ก็ต้องขอบคุณพี่ปี้ ซึ่งปัจจุบันก็คือ แอนนา ชวนชื่น

 น้าโย่งก็เลยได้ไปเป็นน้องเล็กในคณะเด่นดวงดาว  มีพี่เด่น ดอกประดู่ พี่ตุ๊ยตุ่ย พี่ยอด นครนายก พี่ยาวอยุธยา แล้วก็น้าโย่ง พี่เด่นเขาเรียกเราว่ายาว  ยาวก็เลยหันพร้อมกันสองคน  เขาก็เลยชี้ให้เราใช้ชื่อโย่ง ไปสักคนนึง  พี่เด่นเป็นคนตั้งให้ เราก็เลยได้ชื่อโย่ง ก็เลยกลายเป็นโย่ง  เมื่อเป็นน้องเล็กก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อให้เล่นเข้ากับพี่ๆ ได้  และเล่นเข้ากันได้ดี  จนพี่เด่นหยุดไปทำรายการไม่ลองไม้รู้  พี่ยอดไปตั้งคณะ พี่ตุ๊ยตุ่ยไปตั้งคณะ ก็เลยเหลือพี่ยาว กับตัวน้าโย่งไม่ได้ไปไหน ก็เลยร่วมกับพี่ยาวก่อตั้งคณะยาว อยุธยา

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ น้าโย่งก็ได้แยกออกมา ด้วยเหตุผลที่ว่า เราอยากเล่นในแนวของเรา อยากจะเล่นเชิงเอาภาษาไทยมาเล่นคำ มาเล่าเรื่องอะไรอย่างนี้บ้าง ก็เลยตั้งคณะใหม่เป็น “โย่ง พิษณุโลก”  แต่โย่งพิษณุโลก  คนก็ยังไม่มีใครรู้จัก ดังนั้นเมื่อวันที่ตั้งคณะใหม่ จึงได้ไปหาพี่โน้ต เชิญยิ้ม บอกเขาว่า ผมตั้งคณะใหม่แล้วนะ ถ้ายังไงมีอะไรฝากคณะผมด้วยนะคับ พี่โน้ตจึงพูดอะไรรู้ไหม (ยังจำได้ถึงทุกวันนี้) “ไอ้โย่ง  มึงไม่ต้องคิดมาก” ขณะนั้นตามคาเฟ่ต่างๆ เข้ายาก พี่โน้ต จึงหยุดงานไม่ไปเล่นต่อ แล้วให้นักดนตรีพาน้าโย่งไปเล่นแทน เข้าวิลล่า  ดารา พระราม ๙ อะไรที่ใหญ่ ๆ ในกรุงเทพ ก็ได้เข้าไป นั่นคือ “พี่ ๆ เขาให้โอกาส ให้ความรู้ คนที่ให้โอกาสถือว่าเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ”  

น้าโย่งใช้ชื่อโย่ง พิษณุโลก แต่คนก็จำไม่ได้สักที เมื่อมีรายการก่อนบ่ายคลายเครียด น้าโย่งจึงได้ปรึกษากับพี่โน้ตเพื่อขอใช้ชื่อเชิญยิ้ม “ผมขอใช้ชื่อเชิญยิ้มได้ไหม” เพราะให้เส้นทางทำมาหากินคำว่า เชิญยิ้ม นั่นคือตลก น้าโย่งไม่ได้มีความรังเกียจรังงอนในชื่อพิษณุโลกเลย พี่โน้ตจึงให้ไปถามน้าเป็ด น้าเป็ดให้ไปถามพี่หนุ่ม ทุกคนยินดีให้ใช้ชื่อ เชิญยิ้ม เลยนับเป็นความภาคภูมิใจที่พี่ ๆ ไว้ใจให้ใช้ “เชิญยิ้ม”  ดังนั้นการเป็น “โย่ง เชิญยิ้ม” จึงไม่ใช่ชื่อที่ใช้โดยพลการ แต่ได้มาเพราะพี่ ๆ เขามีการคัดเลือกอย่างไรไม่รู้ แต่ว่าเขามีการให้เกียรติกันมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ได้ใช้ชื่อเชิญยิ้ม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  

เมื่อคนก็เริ่มจำชื่อ “โย่ง เชิญยิ้ม” ได้  ปี ๒๕๔๒ น้าโย่งได้มาจัดทอล์กโชว์ ชื่อว่าโย่งทอล์ก ตอน โย่งแอ๊ดวานซ์ไร้สารเครียด (https://youtu.be/LFBoAWtEtWI?si=XlYKLZjjuD94P0rm)   ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ  ก็เกิดกระแสว่าเป็นที่เล่นตลกคนแรกที่ขึ้นไปทอล์กโชว์เดี่ยว และได้จัดโชว์เดี่ยวต่อ ๆ มา คือการพูดคนเดียว เล่นคนเดียว ในรูปแบบนั้น กว่าจะพูดได้ก็ฝึกฝนเอา  มีเรื่องราวอะไรก็เอามาต่อๆ กัน สาเหตุที่พูดคนเดียวได้ นาน ๆ ตั้ง ๒ ถึง ๓ ชั่วโมง

ขอเล่าย้อนมา สมมติว่าวันนี้จะเล่นลิเก  เราก็จะไปพูดปูพรมก่อนเลยว่า “สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้อง …” ต่าง ๆ มีอะไรก็เอาต่อกัน ถ้าคนฮา หัวเราะเราก็พูดไป จนในบางครั้งที่พระราม  ๙ เราพูดจนกระทั่งหมดเวลา จนชาวคณะไม่ได้ขึ้น  เริ่มยาวขึ้น ๆ เป็นการฝึกฝน ฝึกปาก ฝึกสมองเรา พอชาวคณะเขาไม่ได้ขึ้น ก็เลยต้องนัดกันว่า เราจะพูดไปเรื่อย ๆ นะ ถ้าหมดเวลา ก็ให้แบกของอะไรขึ้นมาโวยวายว่าพูดอยู่คนเดียวเลย เราไม่ได้ขึ้นเลย  น้าโย่งก็พูดว่า เออเราพูดจนหมดเวลา เอาไว้วันหลังจะเล่นนะ เสร็จแล้วเราก็จะสวัสดีแล้วก็ลงเลย การเล่นแบบนี้ก็ทำให้อาจารย์พิษณุ สกุลโรมวิลาส มาเห็นเข้าจึงมาชวนไปจัดทอล์กโชว์ มีทอล์กโชว์แรก และต่อ ๆ มา หลังจากนั้นก็เริ่มทอล์กโชว์ ก็มีงานเข้ามาเยอะ มีกระแสมาเยอะ จนกระทั่งคิดได้ว่าเอาน้านงค์ไปด้วย หนักเข้า ๆ เอาน้าพวงไปด้วย 

เมื่อมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักน้าโย่งก็เริ่มแต่งเพลงฉ่อย เอาเพลงฉ่อยใส่ ปรึกษากันเอามุกตลกใส่เป็นเนื้อเพลงฉ่อยจึงได้เกิดรูปแบบนี้ขึ้นมา น้าโย่งคบกับน้าพวง กับน้านงค์มานาน ตั้งแต่ก่อนเข้ากรุงเทพแล้ว เป็นเพื่อนกันตั้งแต่อยู่บ้านเราแล้ว รู้ใจกันมายาวนานมาก ในกลุ่ม ๓ คน การแสดงเพลงฉ่อยได้เข้าตา บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จํากัด (มหาชน)  จึงได้มีการจัดการแสดงสด คุณพระช่วย ครั้งแรก    (https://youtu.be/jP๒๔LwKtSg๐?si=๕W๙iAjG๐T๓apHqqp) ซึ่งทางเวิร์คพ้อยท์ก็ติดต่อมา ให้เราแสดงหน้าม่าน เราก็เอาเพลงฉ่อยไปเล่น ปรากฏว่า กระแสดี  จนได้เป็น “จำอวดหน้าม่าน” ในรายการคุณพระช่วย เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒  ก็ต้องขอขอบคุณ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทน เมนท์ จํากัด (มหาชน) ที่ให้พื้นที่กับเพลงฉ่อย เชื่อไหมครับว่าตอนที่เขาเอาจำอวดหน้าม่าน ไปเล่นเป็นช่วงหนึ่งของคุณพระช่วย ทำให้เรารู้สึกได้ว่า  เพลงฉ่อยที่กำลังจะหายไป กระแสใกล้จะซบเซา เด็กรุ่นใหม่ใกล้จะขาดจากกันไปแล้ว เรารู้สึกดีใจมาก เพราะเพลงฉ่อยกำลังได้ถูกนำเสนอให้ถูกที่ถูกทางว่านี่คือเพลงฉ่อย จึงทำให้เกิดกระแสเพลงฉ่อย ต่อมาได้เกิดเป็นรายการ “จำอวดหน้าจอ” (https://www.workpointtv.com/program/จำอวดหน้าจอ) ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๗ – ๒๕๖๔ ผ่านช่องเวิร์คพ้อยท์

รายการวาไรตี้บันเทิง “๓ น้า SHOW” (https://www.workpointtv.com/program/๓-น้า-โชว์) ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ รวม ๑๔ ตอน ออกอากาศช่องเวิร์คพ้อยท์

น้าโย่งมีความภาคภูมิใจที่เป็นคนพิษณุโลก แม้จะคนต่างจังหวัดแต่ก็มีคนติดตามผลงานมาก ทำให้เราได้เผยแพร่ศิลปะที่ติดตัวมา ยิ่งภาคภูมิใจเมื่อมีหน่วยงานต่าง ๆ มอบรางวัลให้ จากคนธรรมดาที่เราไม่เคยได้รางวัลใด ก็มีหน่วยงานเห็นความสำคัญและมอบรางวัลให้มาตลอด

จนกระทั่งมาบ้านเรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้มอบรางวัลปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ ทางด้านภาษาไทยให้

และที่สุดของความภาคภูมิใจ คือ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๗ ที่เขาได้ประกาศ ช่วงบ่ายๆ มีนักข่าวโทรศัพท์เข้ามาหาน้าโย่ง สอบถามว่าน้าโย่งรู้หรือยังว่าเขาได้ประกาศให้น้าโย่งได้เป็นศิลปินแห่งชาติ  พอรู้ก็ดีใจ ว่าได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิต ในเส้นทางของการแสดง  

“ก่อนหน้านี้น้าโย่งไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน  จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักแสดง  ทีนี้เมื่อถูกได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ ยิ่งดีใจใหญ่ ถือเป็นเกียรติประวัติต่อตัวเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูล และบ้านเกิด”

นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ โย่ง เชิญยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันอายุ ๖๖ ปี สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ จากโรงเรียนวังทอง จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับปริญญาปรัชญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานาฏกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้รับปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
แม้นายพิเชษฐ์จะเกิดในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่มีฐานะยากจน แต่บิดามารดาได้อบรมเลี้ยงดูนายพิเชษฐ์ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวเป็นอย่างดี ครอบครัวจึงมีความรักความอบอุ่น โดยบิดาเสียชีวิตตั้งแต่นายพิเชษฐ์ อายุ ๗ ขวบ มารดาซึ่งมีความขยันหมั่นเพียรและอดออม จึงหล่อหลอมให้นายพิเชษฐ์เป็นทั้งนักสู้ชีวิตและนักสร้างงานศิลป์ ด้วยบิดาเป็นคนรักสนุกชอบร้องรำทำเพลง จึงพาไปชมการละเล่นและการแสดงต่าง ๆ อยู่เสมอ ประสบการณ์เหล่านั้น สร้างแรงบันดาลใจทำให้รู้จักและรักศิลปะการแสดงมาแต่เยาว์วัย ยิ่งใฝ่ใจยิ่งหาโอกาสเข้าใกล้ ก็ยิ่งบ่มเพาะทั้งดนตรีไทยและนาฏศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับแรงจูงใจและปลูกฝัง “เพลงฉ่อย” จากนางนกหวีด เอี่ยมชาวนา ซึ่งเป็นทั้งป้าและแม่เพลง ที่มานะสั่งสอนฝึกหัด โดยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้พาไปเสาะหาวิชาจากครูเพลง จนสามารถร้องเล่นและรับแสดงเพลงฉ่อยได้ แต่ด้วยการเสื่อมความนิยมของสังคมในขณะนั้น ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ นายพิเชษฐ์จึงหันไปฝึกหัดลิเกกับนายหอมหวน เทียมศรี หรือหอมหวนเล็ก แสดงในบทบาท “ตัวโจ๊ก” หรือ “ตัวตลก” กับคณะลิเกหลายคณะจนเริ่มมีชื่อเสียง ใช้ฉายาว่า “ก้านยาว” ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้เข้ามาแสดงตลกกับคณะตลกหลายคณะ อาทิ โน้ต เชิญยิ้ม และ ยาว อยุธยา ในกรุงเทพมหานคร กระทั่งมีความชำนาญและมีชื่อเสียงแล้ว พ.ศ. ๒๕๓๘ จึงได้ตั้งคณะตลกของตนเองชื่อ คณะโย่ง พิษณุโลก รับงานแสดงทั่วไปและออกรายการโทรทัศน์หลายรายการ อาทิ ก่อนบ่ายคลายเครียด รวมทั้งการแสดงทอล์คโชว์ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นตลกคนแรกของเมืองไทยที่แสดงทอล์คโชว์เดี่ยว
นายพิเชษฐ์เป็นศิลปินที่ครองใจผู้คนทุกระดับชั้น เนื่องจากมีอัธยาศัยดี สุภาพอ่อนน้อม ใฝ่หาความรู้มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา มีปฏิภาณไหวพริบ มีศิลปะการแสดงออกที่น่าประทับใจ สามารถสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลงานที่สร้างคุณุปการอย่างยิ่งต่อวงการศิลปวัฒนธรรมคือการนำเพลงพื้นบ้านมาแสดงเป็นจำอวดหน้าม่านหรือจำอวดหน้าจอ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ เนื้อหาร่วมสมัย ใช้ภาษาสร้างสรรค์ จนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะที่ปลุกฟื้นกระแสนิยมเพลงพื้นบ้านให้กลับมาอีกครั้งและทวีสูงขึ้นอย่างกว้างขวาง สร้างทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางวัฒนธรรมแก่สังคม ปัจจุบันนายพิเชษฐ์เป็นนักแสดงตลก หรือจำอวด ทำขวัญนาค แสดงลิเก เพลงพื้นบ้าน ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ตลอดจนจัดกิจกรรมถ่ายทอดการแสดงให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปอยู่เสมอ ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว นายพิเชษฐ์จึงได้รับรางวัลเกียรติคุณจากหลายหน่วยงาน เช่น รางวัลเกียรติยศ ศิลปะการพูดดีเด่นสร้างสรรค์สังคม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ รางวัลเทพทอง ครั้งที่ ๓ บุคคลดีเด่น “วิทยุโทรทัศน์” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ รางวัลระฆังทอง บุคคลแห่งปี ครั้งที่ ๕ ปี สาขาสร้างสรรค์สนับสนุนมวลชนและสังคมดีเด่น ประเภทศิลปิน ดารานักแสดง นักร้อง และรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งปี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ และรางวัลเพชรกนก โดยสมาคมผู้ผลิตรายการภาพและเสียง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๑
นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน – เพลงฉ่อย) พุทธศักราช ๒๕๖๖

น้าโย่งมีความฝัน แล้วก็วิ่งตามความฝัน สิ่งที่น้าโย่งทำด้วยใจรักและความชอบตลอดมา ว่าเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินในเรื่องของงานศิลปะพื้นบ้าน เพลงฉ่อยหรือเพลงพื้นบ้าน ปกติในคณะของน้าโย่งก็มีกลิ่นอายความเป็นพื้นบ้าน น้าโย่งก็ต้องขอขอบคุณคณะผู้พิจารณา ให้น้าโย่งได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ได้เล็งเห็น สิ่งที่เราทำมา ก็ไม่คิดว่าเราจะได้หรือหวังอะไรมากขนาดนี้ แต่ทำด้วยความรักและความชอบ
หัวใจในการทำงานให้สำเร็จของน้าโย่ง คือ การทำงาน อย่าทำงานให้เสร็จ แต่จงทำงานสำเร็จ ถ้าทำแค่เสร็จ ทำยังไงก็ได้ ให้เร็ว ๆ ให้เสร็จไป แต่ทำให้สำเร็จเนี่ยมีคุณภาพกว่า
สุดท้ายนี้ อยากจะฝากถึงลูกหลานหรือประชาชน ว่า “เพลงฉ่อยก็เหมือนเทียนกว่าเราจะจุดขึ้นมาได้ อยากให้มีคนได้จุดต่อ เพราะว่าเทียนนี้ถ้าไหม้มอดหมดแล้วก็อันตรธานหายไป แต่เทียนเล่มใหม่อยากให้จุดต่อ แสงสว่างของศิลปะพื้นบ้านจะอยู่คู่แผ่นดินต่อไป จะได้โชติช่วงไปทั่วแผ่นดิน” ฝากหน่วยงาน ฝากจังหวัดไม่อยากให้ลืมเพลงพื้นบ้าน

นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือน้าโย่ง เชิญยิ้ม สะท้อนให้เห็นว่าพิษณุโลกเป็นเมืองที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง และเป็นดินแดนที่หล่อหลอมให้เกิดศิลปินผู้ทรงคุณค่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จึงได้จัดเทศกาลศิลปินเฟสติวัล ภายใต้แนวคิดที่ว่าศิลปวัฒนธรรมจะขับเคลื่อนไปอย่างงดงามไม่ได้ ถ้าหากขาดผู้รังสรรค์ คือ ศิลปิน อีกทั้งในปี พ.ศ. 2567 มีศิลปินแห่งชาติที่เป็นคนพิษณุโลกมากถึง 2 ท่าน ได้แก่ ร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ และนายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา  ดังนั้นสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามจึงจัดงานเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติคนพิษณุโลก ภายใต้ชื่อโครงการ “ศิลปะ ผู้คน และดนตรี : ศิลปินเฟสติวัล” เพื่อสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวางว่าพิษณุโลกเป็น “เมืองแห่งศิลปิน”

บรรณานุกรม
บัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ มหาวิทยาลัยราขชภัฏพิบูลสงคราม (https://sas.psru.ac.th/wp-content/uploads/๒๐๒๒/๑๒/palace-honorary๒๕๖๒.pdf)
NANGDEE. (๒๕๖๒). ๓ น้าจำอวดหน้าจอ อัดแน่นเพลงฉ่อยและมุกตลกในคอนเสิร์ต คุณพระช่วยสำแดงสด ๙ รัตนโกสินทร์เรืองรอง. สืบค้นเมื่อ ๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,จาก https://www.nangdee.com/news/viewtopic.php?nid=๑๗๔๐๓&Page=๑
NANGDEE. (ไม่ระบุ). พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา (โย่ง, โย่ง เชิญยิ้ม). สืบค้นเมื่อ ๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,จาก https://www.nangdee.com/name/พิเชษฐ์–เอี่ยมชาวนา.html#pagedirector
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (๒๕๖๗). โย่ง เชิญยิ้ม. สืบค้นเมื่อ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๗,จาก https://th.wikipedia.org/wiki/โย่ง_เชิญยิ้ม

Loading

Scroll to Top