ร้อยตรี ดร.ทวี บูรณเขตต์ หรือ ที่ชาวพิษณุโลกเรียกว่า “ลุงจ่า” ตามชื่อพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
ลุงจ่าเกิดเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๗๕ ที่บ้านคลองเตาไหหรือชีปะขาวหาย ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ตาปะขาวหาย ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนจ่าการบุญ ระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ (โรงเรียนสิ่นหมินในปัจจุบัน) และระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนโรงเรียนผดุงราษฎร์ จังหวัดพิษณุโลก
บิดาชื่อนายบุญทิว บูรณเขตต์ (ครูทิว) มารดาชื่อ นางอุ่นเรือน บูรณเขตต์ (แม่ซ่วน) บิดาได้เรียนหนังสือบาลี เรียนวาดเขียนและงานช่างอื่นๆ กับพระและหม่องทุนผิว ชาวพม่า ส่วนมารดาเป็นคนบ้านดอกไม้ กรุงเทพฯ มีความรู้เกี่ยวกับการจัดดอกไม้
เมื่อสมัยเป็นเด็กเล็กอยู่ลุงจ่าเคยเดินทางรอนแรมติดตามคณะของเจ้ามือการพนัน มีการแทงเป้าหมุน เช่น ม้าแดง ข้างคำ โดยใช้ลูกดอกขว้าง หรือมีการเล่นบิงโกและอื่นๆ ข้าพเจ้าจะมีหน้าที่เขียนภาพ ตัวหนังสือเชิญชวน ซ่อมอุปกรณ์และงานอื่นๆ (ช่างวาดเขียนประจำคณะ) ไปหลายจังหวัด
เมื่ออายุประมาณ ๑๕ ปี ลุงจ่าเข้าทำงานเป็นช่างวาดเขียนที่ร้าน “ห้องแบบแผน” แถว ๆ สะพานเหล็ก ถนนเจริญกรุง และ “ร้านศิลปการ” แถว ๆ สี่พระยาของครูบุญชู เจริญทิพย์ อดีตครูโรงเรียนเพาะช่าง ที่นี่รับป้าย เขียนภาพ ทำบล็อก ตรายาง กระจกฉายภาพยนตร์ และอื่นๆ ต่อมาได้ย้ายไปทำงานที่ใหม่ที่ บริษัทคณะช่างจำกัด ถนนอุณากรรณของครูเปรื่อง แสงเถกิง อดีตครูโรงเรียนเพาะช่าง ที่นี่รับเขียนบล็อก ทำตรายาง กระจกฉายภาพยนตร์ เขียนภาพทำป้ายและงานศิลปะต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการเขียนแม่พิมพ์ด้วยหินเป็นแผ่น ๆ ด้วย เรียกว่า พิมพ์หิน ลุงจ่ามีหน้าที่ออกแบบเขียนบล็อก สำหรับใช้กับหนังสือพิมพ์และ สิ่งพิมพ์ต่างๆ ตรายาง และบางครั้งต้องเขียนแม่พิมพ์หินด้วย ลุงจ่าจึงมีความรู้ในงานประเภทนี้อย่างกว้างขวาง ต่อมาสำนักงานยูซิส ของอเมริกามาจ้างเขียนตัวหนังสือข้างรถด้วยสีน้ำมันเป็นงานเร่งด่วน ลุงจ่าจึงต้องรีบเขียนในเวลากลางคืน เมื่อเขียนเสร็จแล้วคนขับรถจึงขับรถไปส่งที่บ้านพักฝั่งธนฯ แต่เกิดอุบัติเหตุจนลุงจ่าแขนหัก หมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะตัดแขน แต่ลุงจ่าไม่ยอม จึงต้องนอนรักษาตัวอยู่เป็นแรมเดือนจึงกลับบ้านพักได้ เมื่อหายป่วยแล้วลุงจ่าจึงกลับมาที่บ้านพิษณุโลก
ต่อมาสถานควบคุมคุดทะราด จังหวัดราชบุรีต้องการช่างวาดเขียน ลุงจ่าจึงไปสมัครและสอบเป็นลูกจ้างชั่วคราว รับเงินเดือนๆละ ๖๐๐ บาท มีหน้าที่เขียนทุกอย่าง เช่น คนเป็นโรคคุดทะราด รูปแบบต่างๆ โปสเตอร์โฆษณาและงานอื่น ๆ
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ภาคทหารบกที่ ๓ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นกองทัพภาคที่ ๓) ประกาศรับสมัครช่างวาดเขียน ลุงจ่าจึงมาสมัครและสอบได้เป็นสิบตรี รับราชการทหารในตำแหน่งช่างเขียน ฝ่ายยุทธโยธา กองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างนั้นท่านมีโอกาสฝึกงานการหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และได้รับการถ่ายทอดวิชาประติมากรรมจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์สนั่น ศิลากร ซึ่งเป็นประติมากรชั้นครู
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ลุงจ่ามียศเป็นสิบเอกแล้ว ได้แต่งงานกับนางสาวพิมพ์ พันธะเสน จากนั้นก็ย้ายมาเช่าตึกแถวอยู่ริมน้ำ ถนนพุทธบูชา ใกล้กำแพงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุด้านเหนือ ถ้ามีเวลาว่างตอนเย็นหลังจากเลิกงานแล้ว ลุงจ่ามักจะมาในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเสมอ ดูพระตามระเบียงวิหารคด ดูหลวงพ่อพุทธชินราช จำได้จนติดตา ขณะนั้นลุงจ่ารับทำงานเขียน ปั้น เล็กๆน้อยๆ ในยามว่างโดยมีภรรยาเป็นลูกมือ เป็นผู้ช่วยทุกอย่าง ลุงจ่ารับทำงานศิลป์ต่างๆ ในเวลาว่าง เช่น ตอนเย็นหลังเลิกจากงานแล้ว และตอนกลางคืนวันเสาร์ – อาทิตย์ ลุงจ่าทำงานหนักมาก จึงได้หาเด็กมาฝึกหัดงาน ๓ -๔ คน และเริ่มรับงานหล่อและจำนวนเด็กเพิ่มขึ้นอีกหลายคน โดยรับทำของวัดจุฬามณีก่อน ส่วนใหญ่เป็นพระเครื่อง เช่น พระลีลาเป็นทองคำแผ่นบางๆ และด้านหลังเป็นว่าน ๑๔ ชนิด มีชนิดเป็นเงินด้วย พระเครื่องเป็นรูปหลวงพ่อเพืชรรูปทรงเป็นรูปหยดน้ำแบน ทำการหล่อและพุทธาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยภรรยาเป็นผู้จัดการดำเนินงานตามคำสั่ง ในขณะที่ลุงจ่าไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในระยะนั้น หลังจากนั้นจึงได้มาซื้อที่ดินที่อยู่ปัจจุบัน
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๑ ลุงจ่าลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพช่างหล่อพระพุทธรูป และได้เริ่มบุกเบิกการปั้นหล่อองค์พระพุทธชินราชจำลอง จากความทรงจำที่ได้ไปสักการะอยู่เป็นนิจ ทำให้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและได้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่สร้างชื่อเสียง เช่น พระบูชาแบบพระพุทธชินราชของพุทธสมาคมจังหวัดพิษณุโลก โดยนายละเมียน อัมพวะสิริ อดีตนายช่างเขตการทาง และนายกพุทธสมาคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ มีขนาดหน้าตัก ๕.๙ นิ้ว และ ๙ นิ้ว ลงรักปิดทอง
พระบูชาแบบพระพุทธชินราชของกองทัพภาคที่ ๓ ขนาด ๕.๙ นิ้วและ ๙ นิ้ว มีชนิดกาไหล่ทอง และ ปิดทอง พล.ท.สำราญ แพทยกุล แม่ทัพกองทัพภาคที่๓ (ในขณะนั้น) เป็นประธานการสร้าง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเททองหล่อ ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ในวันอังคารที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๖ และได้รับพระราชทานพระฤกษ์จุดเทียนชัย สำหรับพิธีพุทธาภิเษกเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เวลา๑๔.๐๔ น. -๑๔.๓๔ น.ที่ในวิหารพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก
พระบูชาแบบพระพุทธชินราช รุ่น จ.ป.ร. และ ม.ว.ก. ขนาด ๕.๙ นิ้ว และ ๙ นิ้ว มีชนิดกาไหล่ทองและปิดทอง ของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก (ในสมัยนั้น) เป็นประธานในการสร้าง และมีพระพุทธิวงศมุนีเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเททองในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์สยามมกุฎราชกุมาร ณ วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๘ และได้ทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระบูชาแบบพระพุทธชินราช รุ่นพระมาลาเบี่ยง ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก โดย พ.ต.อ.อรรถ จับจิตใจดล ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก (ในสมัยนั้น) เป็นประธานการสร้าง และท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังสี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ กำหนดพิธีเททองวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๐ ซึ่งมีขนาด ๙.๙ นิ้ว และ ๕.๙ นิ้ว มีทั้งลงรักปิดทองและพระกะไหล่ทอง รุ่นนี้ได้สร้างพระเครื่องชนิดทองคำ เงิน และนวโลหะด้วย ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกถึง ๒ ครั้งในวิหารพระพุทธชินราชและที่พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๗ ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๔๑ ตอนที่ ๓ ออกประกาศ เรื่อง พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ ความว่า “มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ ร้อยตรี เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ จ่าสิบเอก ทวี บูรณเขตต์ ทหารพ้นราชการ สังกัดกองทัพบก เนื่องจากเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการ หน่วยงาน และประเทศชาติโดยรวม ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๗”
“พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” รูปธรรมแห่งชีวิตและอุดมการณ์
จากคำพูดของลุงจ่าที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี แสดงให้เรื่องราว อุปนิสัย และอุดมการณ์เพื่อสังคมของลุงจ่าได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจน
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ มีที่มาจากลุงจ่าเป็นคนเห็นคุณค่าของข้าวของทุกชนิด จึงเริ่มซื้อหาและรวบรวมของใช้พื้นบ้านที่คนทั่วไปมองว่าเป็นของรกของทิ้ง ไม่มีราคา เช่น สุ่ม ไห ไซ โอ่ง ฯลฯ โดยสะสมมานานกว่า ๓๐ ปี ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านส่วนใหญ่ลุงจ่าได้มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพิษณุโลก ของบางอย่างลุงจ่าต้องดั้นด้นเข้าไปหาเองในป่า ไม่มีราคาค่างวด แต่มีคุณค่า ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้ ชีวิต ความเชื่อ ความคิดของคนในอดีตจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ ในมุมมองของลูกชาย คือ ดร.ธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ หรือคุณไก่ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงานของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ว่า “ในสมัยก่อนคุณพ่อเดินทางไปหล่อพระในที่ต่าง ๆ ก็จะรับซื้อเครื่องทองเหลือง เช่น หม้อ ทัพพี ขัน ที่ชาวบ้านนำมาขายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการหล่อพระ โดยรับซื้อตามราคากลางของการขายทองเหลืองในช่วงเวลานั้น เครื่องทองเหลืองบางชนิดไม่สามารถที่จะใช้หล่อพระได้ ก็จะเก็บสะสมไว้จนมีปริมาณมาก ต่อมาข้าวของเหล่านี้จึงถูกเก็บจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี”
จากอุดมการณ์ของลุงจ่าพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีแห่งนี้ จึงเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งแรกของประเทศไทย ที่ดำเนินการและก่อตั้งโดยเอกชน ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๓๓ ลุงจ่าเป็นผู้นำชมแก่ผู้สนใจทุกคน โดยเฉลี่ยมีผู้ขอชมวันละ ๓๐-๕๐ คน ต่อมาบ้านที่จัดแสดงทรุดโทรมและคับแคบจนเกินไป ปีพ.ศ. ๒๕๓๓ จึงได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ และปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ ตกแต่งสวนด้วยพันธุ์ไม้ไทยหลากหลายในส่วนของการจัดแสดงได้ประมวลข้อมูลจากสมุดบันทึกที่จดเรื่องราวที่สนใจเป็นส่วนตัวไว้ ประกอบกับได้ออกไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น ลุงจ่าทุ่มเทให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาก และฝากความหวังไว้กับลูกสาว คือ คุณพรศิริ บูรณเขตต์ ให้ไปศึกษาเกี่ยวกับการทำพิพิธภัณฑ์เพื่อกลับมาดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ให้อยู่คู่กับเมืองพิษณุโลกต่อไป ลูกสาวของลุงจ่าไปศึกษาในคณะโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และนำความรู้เกี่ยวกับการทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมาบริหารงานต่อ
การบริหารพิพิธภัณฑ์ต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมากเฉลี่ยเดือนละหนึ่งแสนบาท จึงนับเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ที่ผู้บริหารต้องดำเนินงานต่อ คุณไก่ให้สัมภาษณ์ว่า “คุณพ่อพยายามสุดกำลังที่จะยื้อพิพิธภัณฑ์นี้ ไปกู้หนี้ยืมสินมาหล่อเลี้ยงให้พิพิธภัณฑ์ดำเนินการต่อ เพราะตอนแรกเราเปิดให้เข้าชมฟรี หวังให้เป็นแหล่งรู้คู่กับเมืองพิษณุโลก” แต่พิพิธภัณฑ์ก็ต้องมาเจอกับจุดวิกฤตสำคัญ คือ การเรียกเก็บภาษีท้องที่ย้อนหลัง ดังคำที่ สุเจน กรรพฤทธิ์ (๒๕๔๔) ระบุว่า
“ปี ๒๕๔๖ เทศบาลเมืองพิษณุโลกเรียกเก็บภาษีที่ดินและโรงเรือนย้อนหลังด้วยเหตุผลว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่วัดหรือโรงเรียนที่ได้รับการยกเว้น สิ่งนี้บั่นทอนความรู้สึกของลุงจ่าและลูกสาวที่ใช้เงินสะสมทั้งชีวิตทำพิพิธภัณฑ์เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถึงกับประกาศขายพิพิธภัณฑ์เพื่อ “หาทางออกและอนาคต” มาแล้ว แม้ว่าต่อมาพวกเขาจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการเก็บค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท นักเรียนนักศึกษา ๒๐ บาท เด็กต่ำกว่า ๑๐ ขวบ พระภิกษุ สามเณร นักบวช ชมฟรี
เมื่อปี ๒๕๕๒ ลุงจ่าและบุตรสาวจึงตัดสินใจสร้างวัตถุมงคลคือพระพุทธชินราช (จำลอง) และวัตถุมงคลรุ่น “บูรณะพิพิธภัณฑ์” เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า “เพื่อนำรายได้หล่อเลี้ยงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี พิษณุโลก ให้คงอยู่เพื่อเป็นคลังความรู้คู่สังคมไทยสืบไป” ลุงจ่าลงมือปั้นพระหามรุ่งหามค่ำที่โรงหล่อพระพุทธรูป ทำงานหนักจนป่วยเป็นโรคนิ้วล็อก จากเดิมเป็นเบาหวาน ตาข้างหนึ่งเป็นต้อกระจก ตาอีกข้างหนึ่งก็มองไม่เห็น
(สุเจน กรรพฤทธิ์, ๒๕๕๔)
เหตุการณ์จากวิกฤตดังกล่าวบั่นทอนความมุ่งหวังของผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ในช่วงนั้นเป็นอย่างมาก ประกอบกับลูกสาวของลุงจ่าเริ่มมีอาการป่วย จึงขอยุติการดูแลพิพิธภัณฑ์ ภรรยาของลุงจ่าได้เข้ามาบริหารแทน โดยมีลุงจ่าและลูกชายเข้ามาคอยดูแลร่วมด้วย หลังจากนั้นประมาณ ๕ ปี ภรรยาของลุงจ่าเสียชีวิต ลุงจ่าจึงมอบหมายให้ลูกชาย คือ ดร.ธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ หรือคุณไก่ เข้ามาบริหารในฐานะผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
จะเห็นว่าการเดินทางผ่านกาลเวลาของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย แม้แต่ลุงจ่าเองยังเคยคิดที่จะปิดและขายพิพิธภัณฑ์ ดังที่ลุงจ่าได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เรื่องปิดพิพิธภัณฑ์ผมเคยคิด แต่ทำไม่ได้เพราะผูกพันกับมันมาทั้งชีวิต ผมต้องทำงานของผมให้เสร็จ ต้องทำให้ถึงที่สุด ตอนนี้ผมอายุมากแล้ว ถ้าไม่รีบอาจเป็นอะไรไปก่อน ต้องจัดแสดงทุกอย่างให้ครบเพื่อไม่ให้ความรู้ตายไปพร้อมตัวผม” (สุเจน กรรพฤทธิ์, ๒๕๕๔) จากวิกฤตกลับมาสู่โอกาสในการสารต่ออุดมการณ์อีกครั้งเมื่อทางส่วนท้องถิ่นได้มีการเจรจาประนีประนอมยกเว้นภาษี และสนับสนุนเงินงบประประมาณในการทำโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์แก่สังคมให้กับพิพิธภัณฑ์จำนวนหนึ่งทุก ๆ ปี
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี แบ่งโซนจัดแสดงเป็น ๕ อาคาร ได้แก่ อาคารที่ ๑ เป็นอาคารที่รวบรวมและจัดแสดงพันธุ์ปลาท้องถิ่นของจังหวัดพิษณุโลกและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงจัดจำหน่ายของฝากและของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว อาคารที่ ๒ จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพิษณุโลก รวมทั้งลักษณะทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดพิษณุโลก อาคารที่ ๓ จัดแสดงเกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้จากทุกภูมิภาคของประเทศ แต่จะเน้นเป็นพิเศษในเขตภาคเหนือตอนล่าง นำเสนอโดยจำแนกการแสดงเป็นส่วนต่าง ๆ คือ ความเชื่อ ภาษาและวรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม ดนตรีและการละเล่น วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ อาคารที่ ๔ เป็นอาคารจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวโซ่ง ลาวโซ่ง ไทยทรงดำหรือไทยโซ่ง อาคารที่ ๕ เป็นส่วนจัดแสดงห้องเทิดพระเกียรติ และส่วนจัดแสดงหอเกียรติยศของร้อยตรีทวี บูรณเขตต์
เมื่อวันที่ ๖ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ ได้มีการเปิดหอศิลปาจารย์เพื่อจัดแสดงเรื่องราวชีวิต การงาน และความสำเร็จของร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ รวมถึงจัดแสดงผลงานการปั้นหล่อโดยฝีมือของร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ด้วย
“ลุงจ่า” ศิลปินรางวัลศิลปาจารย์ พุทธศักราช ๒๕๖๕
ร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย และ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ครูช่างผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ประติมากรรม “พระพุทธชินราช” จำลองที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามเหมือนองค์จริงมากที่สุด จนได้รับการยกย่องให้เป็น “เพชรน้ำเอกแห่งวงการช่างศิลป์”
ท่านเป็นผู้อนุรักษ์และสืบสาน ต่อยอดมรดกภูมิปัญญา เป็นครูผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้อันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งยังเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม มุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ชุมชนและประชาชนคนไทย โดยเป็นผู้ก่อตั้ง โรงหล่อบูรณะไทย นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบสัมมาชีพของท่านแล้ว ยังเป็นโรงเรียนที่ถ่ายทอดวิชาการปั้นหล่อให้กับชาวบ้านและผู้สนใจเป็นจำนวนมาก จนลูกศิษย์หลายต่อหลายรุ่นได้นำไปประกอบอาชีพหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยรายได้จากโรงหล่อบูรณะไทยยังเป็นน้ำที่หล่อเลี้ยง “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเข้าชมเพียงหลักสิบบาทต่อคน เพื่อการสร้างประโยชน์ในการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ท่านได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ด้วยเจตจำนงในการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้เป็นแหล่งรวบรวมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพิษณุโลก และภาคเหนือตอนล่าง บรรยายให้ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และจัดกิจกรรมเสริมความรู้นอกห้องเรียนให้แก่เด็ก นักเรียน เยาวชน ผู้สนใจทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ
ท่านได้รับการยกย่องจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น เมื่อปี ๒๕๒๖ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือ (ช่างหล่อ) ปี ๒๕๕๗ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “สุดยอด ๑๒ นักคิดเมืองพิษณุโลก” ในฐานะสุดยอดนักคิดด้วยวิสัยทัศน์แห่งจิตพัฒนา ปี ๒๕๖๐ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณยกย่อง เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๖๔ ได้รับรางวัลเพชรสยาม สาขาช่างฝีมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ปี ๒๕๖๔ ได้รับรางวัลข้าของแผ่นดินด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม จากสำนักงานเอกลักษณ์ของชาติสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๖๖ ได้รางวัลคนดีศรีจังหวัดพิษณุโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ จากคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก
ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเป็นครูผู้ให้ ยังขยายไปสู่การจัดตั้ง มูลนิธิจ่าสิบเอกทวี – พิมพ์ บูรณเขตต์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากไร้และขาดโอกาสทางการศึกษา โดยได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ท่านได้ดำรงตนอยู่ได้ด้วยสัมมาชีพทางพุทธศิลป์ และนำความเชี่ยวชาญนั้นมาเป็นจุดตั้งต้นแห่งการเป็นครูและการเป็นผู้ให้กับสังคมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานจวบจนปัจจุบัน ในปี ๒๕๖๕ ท่านได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับรางวัล “ศิลปาจารย์” พุทธศักราช ๒๕๖๕
“ลุงจ่า” ศิลปินเมืองพิษณุโลก สู่ ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ เกิดเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันอายุ ๙๑ ปี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนจ่าการบุญ ระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ (โรงเรียนสิ่นหมินในปัจจุบัน) และระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนโรงเรียนผดุงราษฎร์ ซึ่งทั้ง ๓ แห่งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก
วยเกิดในครอบครัวที่บิดาเป็นครูศิลปะและเป็นช่างฝีมือ ทำให้ชีวิตวัยเด็กของร้อยตรี ทวี ได้เรียนรู้วิชาการวาดรูปและงานช่างแกะสลักจากบิดา เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ได้ออกไปประกอบอาชีพช่างเขียนภาพในหลายท้องที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทำงาน กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้เข้ารับราชการเป็นทหารสังกัดกองทัพภาคที่ ๓ ได้รับยศสูงสุดเป็นจ่าสิบเอกในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ รวมระยะเวลารับราชการทหาร ๒๓ ปี โดยขณะที่รับราชการทหาร ร้อยตรี ทวี ได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านช่างศิลป์หลายแขนง เพื่อรับใช้ภารกิจของทางราชการอย่างเต็มที่ เช่น วาดรูป เขียนแบบ แกะไม้ และหล่อโลหะ และเมื่อทางกองทัพภาคที่ ๓ ต้องการช่างฝีมือดีสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ร้อยตรี ทวี จึงได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมวิชาการปั้นและหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร กับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์สนั่น ศิลากร และอาจารย์พิมาน มูลประมุข ท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเอกอุแห่งวงการศิลปะไทย ซึ่งได้เมตตาถ่ายทอดความรู้ให้แม้เป็นเพียงระยะเวลาช่วงสั้นๆ แต่ก็นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญต่อการฝึกฝนและพัฒนาผลงานอย่างยิ่ง และภายหลังอบรม ร้อยตรี ทวี ได้กลับไปทำหน้าที่หล่อรูปเหมือนองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาจนเป็นที่ยอมรับ
นอกจากนั้น ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช รุ่น ภปร. ที่ได้รับพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.” ซึ่งได้รับการชื่นชมว่ามีความงดงามคล้ายองค์จริง จนเป็นที่กล่าวขานในพรสวรรค์ และความสามารถทางพุทธศิลป์ที่แสดงออกมาได้อย่างประณีตสมดุล จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ร้อยตรี ทวี ได้ขอลาออกจากราชการเพื่อมาประกอบอาชีพส่วนตัว โดยยึดอาชีพช่างปั้นหล่อพระพุทธรูป และก่อตั้ง “โรงหล่อพระบูรณะไทย” ซึ่งพระพุทธชินราชที่ปั้นหล่อด้วยฝีมือของร้อยตรี ทวี ถือเป็นงานพุทธศิลป์ที่มีความงดงามคงอัตลักษณ์เดิม แต่สร้างสรรค์เพิ่มเติมอย่างมีเอกลักษณ์ ด้วยการนำท้าวเวสสุวรรณ และอาฬวกยักษ์มาไว้ข้างองค์พระ และมีการปิดทองคำแท้สำหรับบูชา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการสร้างพระพุทธชินราชด้วยวิธีการนี้ พระพุทธชินราชที่สร้างโดยร้อยตรี ทวี จึงได้รับการยอมรับในฝีมือและความงดงามว่าเป็น พระพุทธชินราช สกุลช่างพิษณุโลก จ่าทวี ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และร้อยตรี ทวี ยังได้รับยกย่องให้เป็น “เพชรน้ำเอกแห่งวงการช่างศิลป์”
นอกจากอาชีพช่างหล่อพระแล้ว ร้อยตรี ทวี ยังได้ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์มากมาย เพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดความรู้การปั้นและการหล่อ สร้างอาชีพและความภาคภูมิใจให้กับผู้คนในท้องถิ่นมากมาย คุณูปการที่สำคัญคือ ได้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” นับเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยแห่งแรก ที่เก็บรวบรวมสะสมและรักษาเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน อันสะท้อนวิถีชีวิตของคนในอดีตให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และได้จัดตั้งมูลนิธิ จ่าทวี บูรณะเขตต์ เพื่อนำดอกผลของมูลนิธิมอบให้เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จนถึงปัจจุบัน
ด้วยความสามารถและความเสียสละตน เพื่อประกอบคุณงามความดี จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน เป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการ หน่วยงาน และประเทศชาติโดยรวม ทำให้ร้อยตรี ทวี ได้รับรางวัลมากมายจากหลายหน่วยงาน อาทิ พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาการช่างฝีมือ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปัจจุบัน) พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับยกย่องเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้รับรางวัลเพชรสยาม สาขาการช่างฝีมือ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้รับยกย่องให้เป็น “ศิลปาจารย์” จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะและการออกแบบจาก มหาวิทยาลัยนเรศวร และ พ.ศ. ๒๕๖๗ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ ร้อยตรี เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบ คุณงามความดีและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการ หน่วยงานและประเทศชาติโดยรวม
ที่มาคำประกาศเกียรติคุณ http://www.culture.go.th/culture_th/images/akasit/6613a.pdf
ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ช่างปั้น หล่อ) พุทธศักราช 2566
ศิลปินแห่งชาติ ‘คนพิษณุโลก’
ร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ หรือ “ลุงจ่า” เป็นศิลปินผู้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่วงการศิลปะไทย โดยเฉพาะงานพุทธศิลป์และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ท่านเป็นผู้สร้างสรรค์พระพุทธชินราชจำลองที่งดงามจนได้รับการยกย่องว่าเหมือนองค์จริงมากที่สุด นอกจากการก่อตั้งโรงหล่อพระบูรณะไทยที่ผลิตงานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าแล้ว ท่านยังอุทิศตนในการถ่ายทอดความรู้ด้านงานช่างแก่ลูกศิษย์มากมาย ที่สำคัญคือการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก รวบรวมและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้อย่างมีคุณค่า
การที่ลุงจ่าได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้น หล่อ) พุทธศักราช ๒๕๖๖ จึงไม่เพียงเป็นเกียรติประวัติแก่ตัวท่านและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจของชาวพิษณุโลกที่มีศิลปินผู้รักและทุ่มเทให้กับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริง ท่านจึงเป็นแบบอย่างของศิลปินที่ใช้ความรู้ความสามารถสร้างคุณประโยชน์แก่บ้านเกิด และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมสืบไป โดยท่านจะมีคำสอนว่า “หาความถนัดและความเชี่ยวชาญของตัวเองให้เจอ เป็นที่สุดให้ได้ในทางนั้น ไม่ต้องสนใจเรื่องของเงินทองและความสำเร็จ เพราะถ้าหากเก่งจริงทุก ๆ อย่างจะตามมาเอง”
เรื่องราวของร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ หรือลุงจ่า สะท้อนให้เห็นว่าพิษณุโลกเป็นเมืองที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง และเป็นดินแดนที่หล่อหลอมให้เกิดศิลปินผู้ทรงคุณค่า เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๗ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จึงได้จัดเทศกาลศิลปินเฟสติวัล ภายใต้แนวคิดที่ว่าศิลปวัฒนธรรมจะขับเคลื่อนไปอย่างงดงามไม่ได้ ถ้าหากขาดผู้รังสรรค์ คือ ศิลปิน อีกทั้งในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีศิลปินแห่งชาติที่เป็นคนพิษณุโลกมากถึง ๒ ท่าน ได้แก่ ร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ และนายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา ดังนั้นสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามจึงจัดงานเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติคนพิษณุโลก ภายใต้ชื่อโครงการ “ศิลปะ ผู้คน และดนตรี : ศิลปินเฟสติวัล” เพื่อสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวางว่าพิษณุโลกเป็น “เมืองแห่งศิลปิน”
บรรณานุกรม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. ๒๕๖๗. คำประกาศเกียรติคุณร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้นหล่อ) พุทธศักราช ๒๕๖๖.
เข้าถึงจาก http://www.culture.go.th/culture_th/images/akasit/๖๖๑๓a.pdf
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์กรมหาชน. (ไม่ระบุ). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี. สืบค้นเมื่อ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๗. ,
จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/๕๑๘
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติร่วมกับวิทยาลัยครูพิบูลสงครามพิษณุโลก. (๒๕๒๖).
ผลงานเชิดชูเกียรติ จ.ส.อ.ทวี บูรณเขตต์ เพชรน้ำเอกของวงการช่างศิลป์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สุเจน กรรพฤทธิ์. ๒๕๕๔. “ผมต้องทำงานของผมให้เสร็จ” คำให้การของ “จ่าทวี” ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี. นิตยสารสารคดี.
เข้าถึงจาก https://www.sarakadee.com/๒๐๑๑/๐๔/๐๔/พิพิธภัณฑ์-จ่าทวี/
อิสรภาพแห่งความคิด ไทยโพสต์. (๒๕๖๕). ยกย่อง’จ่าทวี บูรณเขตต์’เป็น’ศิลปาจารย์’. สืบค้นเมื่อ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๗. ,
จาก https://www.thaipost.net/tac/๑๕๒๙๖๕/