สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม นำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับธงนางมัจฉา (บางคนเรียกนางเงือก นางกินรี) ที่เรามักเห็นว่ามีการใช้ประดับตกแต่งอยู่ในภายในบริเวณงานทอดกฐินของวัดต่าง ๆ มาเล่าถึงความเชื่อ และความหมายเชิงสัญลักษณ์นะคะ
นางมัจฉา หมายถึง ความหลง ดังปรากฏรูปภาพนางมัจฉาเป็นสตรีรูปร่างงดงามน่าหลงใหล ชวนเสน่หา
ด้วยเหตุที่ในอดีตกาล การถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆ์ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนกับปัจจุบัน การที่พระภิกษุสงฆ์จะมีไตรจีวรใหม่นั้น ชาวบ้านจะนำผ้าเป็นผืนขนาดใหญ่มาถวายวัดและให้พระภิกษุตัดเย็บกันเอง ซึ่งตรงกับคำว่า“กฐิน” ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลว่าไม้สะดึง เป็นไม้แบบสำหรับขึงจีวรที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาลใช้สำหรับเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการตัดเย็บจีวร ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าหากผู้ใดถวายผ้าไตรจีวรให้แก่พระภิกษุสงฆ์ จะเกิดอานิสงส์ให้มีรูปงาม จึงมีการใช้สัญลักษณ์นางมัจฉาถือดอกบัว มาวาดลงบน “ธงนางมัจฉา” เป็นตัวแทนหญิงสาวที่น่าหลงใหล ประดับงานพิธีถวายผ้ากฐิน อนึ่งอาจสื่อความหมายได้ถึงเมตตามหานิยมได้อีกด้วย
ดังนั้นเมื่อธงนางมัจฉาได้ผ่านพิธีกรรมในงานทอดกฐินแล้ว ทางเจ้าภาพกฐินจะนำธงนี้ไปบูชาต่อ ตามความเชื่อว่าจะมีเมตตามหานิยม หากเกิดภพชาติใหม่จะมีรูปร่างที่งดงามเฉกเช่นกับนางมัจฉา