ธงจระเข้ : สัญลักษณ์แห่งศรัทธาในริ้วขบวนแห่กฐิน

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม นำเกร็ดความรู้และเรื่องราวเกี่ยวกับธงจระเข้ที่เรามักเห็นว่ามีการประดับตกแต่งอยู่ในงานทอดกฐินตามวัดต่างๆ มาเล่าถึงตำนาน ความเชื่อ ความศรัทธา รวมถึงความหมายของสัญลักษณ์บนผืนธงดังกล่าว
ธงจระเข้ เมื่อยังเป็นมนุษย์มุ่งให้ทำทาน
จระเข้ หมายถึง ความโลภ เปรียบกับตัวจระเข้ที่เป็นสัตว์ปากใหญ่ กินได้ทุกอย่างแต่ไม่รู้รสชาติ และไม่รู้จักพอจักอิ่ม
“ธงจระเข้” ใช้ร่วมในขบวนแห่กฐิน เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่ากำลังทำบุญทอดกฐิน มีตำนานเกี่ยวกับธงจระเข้ เล่าขานสืบต่อเป็นมุขปาฐะว่า “ในอดีตกาลมีเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นคนขี้เหนียว เขามีทรัพย์สมบัติมากมายและนำทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปฝังไว้ที่ท่าน้ำหน้าบ้านของตน แม้แต่ลูกเมียก็ไม่ทราบว่าทรัพย์สมบัติจำนวนมากนั้นอยู่ที่ใด เมื่อมีชีวิตอยู่เศรษฐีผู้นี้ไม่เคยทำบุญทำทาน ครั้นเมื่อเสียงชีวิตลงจึงไปเกิดเป็นจระเข้ค่อยว่ายวนอยู่แถวท่าน้ำเพื่อเฝ้าสมบัติของตน จระเข้เศรษฐีได้รับความทุกขเวทนามาก และคิดได้ว่าเมื่อตนยังมีชีวิตไม่เคยทำบุญทำทานเลย จึงไปเข้าฝันบอกภรรยาให้มาขุดสมบัติไปทำบุญกุศล ภรรยาจึงจัดให้มีการทอดกฐิน จระเข้เศรษฐีนั้นก็บังเกิดความยินดี ว่ายน้ำตามขบวนเรือแห่องค์กฐินไป แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดแรงไปต่อไม่ไหว ภรรยาของเศรษฐีรู้สึกเวทนา และอยากให้สามีได้ทำบุญตามที่ต้องการ จึงให้วาดรูปจระเข้เป็นตัวแทนของเศรษฐีลงบนผืนธงนำเข้าวัดไปร่วมทอดกฐิน” ต่อมาเราจึงมักเห็นธงจระเข้อยู่ในขบวนแห่กฐิน
ด้วยเหตุที่ในหนึ่งปี วัดแต่ละวัดสามารถทอดกฐินได้เพียงแค่หนึ่งครั้งเท่านั้น ทำให้ธงจระเข้ถูกประกอบสร้างความหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความมั่งมีและร่ำรวยแบบเศรษฐีตามตำนาน ดังนั้นเมื่อธงจระเข้ผ่านพิธีกรรมในงานทอดกฐินแล้ว ทางเจ้าภาพกฐินจะนำธงจระเข้ไปบูชาต่อตามความเชื่อว่าจะมั่งมีและร่ำรวย

Loading

Scroll to Top