ประวัติกฐินกาล: จากพุทธบัญญัติสู่แนวปฏิบัติ

          สมัยพระพุทธกาล ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี พรรษาที่ 5 แห่งการประกาศพระพุทธศาสนา คณะพระภิกษุชาวเมืองปาฐา 30 รูป มีศรัทธาที่จะเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ด้วยระยะทางไกลโพ้นและต้องผ่านหมู่บ้านมากมาย ทำให้คณะพระภิกษุเหล่านั้นเดินทางมาไม่ทันช่วงเข้าพรรษา จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นจึงรีบเดินทางมาทันที แม้จะเป็นช่วงมรสุมที่ฝนตกชุก น้ำท่วมทาง การเดินทางแสนลำบาก จีวรเปียกชุ่มด้วยสายฝนและโคลนตม แต่ท่านก็มิได้ย่อท้อ มุ่งหน้าสู่พระเชตวันมหาวิหารด้วยความอุตสาหะ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็น พระพุทธองค์จึงเกิดความเมตตาและทรงพิจารณาหาหนทางบรรเทาความลำบากของพระภิกษุ จึงบัญญัติพระวินัยเกี่ยวกับกฐินขึ้น โดยทรงอนุญาตให้พระภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือน สามารถรับผ้ากฐินเพื่อนำไปตัดเย็บเป็นจีวรใหม่ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังออกพรรษา

         ดังนั้นหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว จึงเป็นแนวปฏิบัติว่าเข้าสู่ช่วงการทอดกฐิน เรียกว่า กฐินกาล ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  มีกำหนดระยะเวลาถวายเพียง 1 เดือน  และ 1 วัดจะรับได้เพียงกฐินเดียวเท่านั้น จึงถือว่าเป็นบุญเฉพาะกาล โดยผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐินได้นั้น เป็นผ้าใหม่ก็ได้, ผ้าเทียมใหม่ก็ได้, ผ้าเก่าหรือผ้าบังสุกุลก็ได้ แต่ผ้าเหล่านี้จะต้องมีพอที่จะทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง (ผ้าไตรจีวร ของพระสงฆ์มี 3 ผืน คือ สบง = ผ้านุ่ง, จีวร = ผ้าห่ม, และสังฆาฏิ = ผ้าซ้อนห่ม หรือผ้าพาด) ผ้านี้คือผ้าองค์กฐิน ส่วนสิ่งของอื่นๆ ไม่ใช่องค์กฐิน แต่เป็นบริวารกฐิน บริวารกฐินนี้จะมีมากหรือน้อยก็ได้ไม่มีกำหนด แล้วแต่ตามศรัทธาของผู้ถวาย

          พิธีการทอดกฐินถือเป็นสังฆทานชนิดหนึ่ง โดยการนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น 

          การทอดกฐินของประชาชนทั่วไป เรียกว่ากฐินราษฎร์” เป็นกฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ดังนี้

           1. จุลกฐิน คือ กฐินที่จัดทำผ้าไตรจีวรเพื่อเป็นผ้ากฐิน  เริ่มตั้งแต่การนำฝ้ายมาปั่นกรอเป็นเส้นด้าย แล้วทอเป็นผืนผ้า  ตัดเย็บและย้อมสี  ตลอดจนได้ทำการทอดถวายภายในวันนั้น  โดยใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง  และจะทำเมื่อใกล้สิ้นสุดช่วงการทอดกฐินแล้ว

           2. มหากฐิน  คือ กฐินที่ทอดถวายตามวัดต่าง ๆ  โดยจะมีการรวบรวมจตุปัจจัยไทยธรรม บริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน  เพื่อจะได้ส่วนหนึ่งเป็นทะนุบำรุงวัด  ซ่อมแซมบูรณะของเก่า ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กฐินสามัคคี

           “ผ้ากฐิน” แท้ที่จริงแล้ว คือ ผ้าขาว ในอดีตพระสงฆ์ทุกรูปจะช่วยกันนำมาตัด เย็บ ย้อม ด้วยมือ จนได้เป็นผ้าไตร หรือ ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง โดยสมบูรณ์ และมีกำหนดเวลาว่าจะต้องทำให้เสร็จก่อนเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อนำผ้านั้น ไปถวายให้กับพระสงฆ์ที่เห็นสมควรต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือ #ภาพความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ที่มาร่วมกัน ตัด เย็บ ย้อมผ้าให้เสร็จทันเวลา #แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงช่วยสนเข็ม และเป็นแบบอย่างของความ #สามัคคีกลมเกลียวกัน แม้ในปัจจุบันจะมีการถวายผ้าไตรสำเร็จรูป แต่ก็ยังต้องมีการถวายผ้าขาวซึ่งเป็นองค์กฐินหลักควบคู่กันไปด้วย

           “กฐินสามัคคี” ไม่ใช่เพียงแต่พระภิกษุสงฆ์ฯ ที่จะได้ร่วมกันแสดงน้ำใจ มีความสามัคคีและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนงานกฐินสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ฆราวาสญาติโยมเองก็ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของ “การทอดกฐิน” มาร่วมแรงร่วมใจกันจัดเตรียมผ้ากฐิน และ บริวารกฐินกันอย่างประณีตสวยงามจนสำเร็จลุล่วงได้ เพราะ ความสามัคคี ที่มีแบบอย่างมาจากพระพุทธเจ้านั่นเอง

           ประเพณีกฐินได้วิวัฒนาการและหยั่งรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ในยุคแรกเริ่ม การทอดกฐินเป็นเพียงการถวายผ้าเพื่อให้พระสงฆ์นำไปตัดเย็บเป็นจีวร แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ประเพณีนี้ได้พัฒนาและขยายความหมายให้กว้างขวางขึ้น กลายเป็นพระราชพิธีสำคัญในราชสำนักและประเพณีอันทรงคุณค่าของประชาชน โดยในสมัยสุโขทัย การทอดกฐินได้รับการยกย่องให้เป็นพระราชพิธีสำคัญ มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่และวิจิตรบรรจง เป็นโอกาสอันดีในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่บันทึกถึงความสำคัญของประเพณีนี้ไว้  ดังนี้

“… คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มันโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทังหลายทังผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษากรานกฐินเดือนณื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐินเถิงอไรญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน ดมบังคมกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพีณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก …”

ภาพศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2) ที่มา https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/49

ต่อมาในสมัยอยุธยา พระราชพิธีกฐินได้พัฒนาจนมีแบบแผนที่สมบูรณ์ มีการกำหนดวัดหลวงสำหรับพระราชพิธี ดังมีบันทึกลงในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” (2510) หัวข้อ พระราชพิธี 12 ราศี ตามตำรา หน้า 268 “ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ โปรดให้ทำจุลกฐิน คือทอดผ้าให้เสร็จในวันเดียว แล้ว (เอาผ้าผืนนั้นพระราชทานพระกฐิน)

และเกิดประเพณีกฐินทางน้ำอันงดงามเมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ (2559) กล่าวถึงพระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่าปรากฏในโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงนิพนธ์ขึ้นในรัชกาลที่ 5 เนื้อความกล่าวพรรณนาถึงแบบแผนการปฏิบัติการพระราชพิธีตลอดจนวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของราษฎรทั่วไปในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง 12 เดือน  (อาวุธ เงินชูกลิ่น, 2545)  ทั้งนี้พบว่ามีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงประเพณีการทอดกฐินในสมัยนั้น ว่าเป็นประเพณีที่กระ ทำในเดือน 11 ดังข้อความ

(ภาพหนังสือโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส)

ที่มา https://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/view/18453-โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส

เห็นได้ว่าประเพณีกฐินได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อมา โดยยังคงรักษาแก่นแท้ของพุทธบัญญัติไว้ แต่เพิ่มความสำคัญของกฐินหลวงและปรับรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย กฐินได้กลายเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ พระพุทธศาสนา และประชาชน ปัจจุบันแม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด แต่ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเกี่ยวประเพณีกฐินก็ยังคงอยู่ แม้จะมีปรับเปลี่ยนบริบทให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างงดงาม เช่น ขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนให้กว้างขวางขึ้น แต่ไม่ว่าจะผ่านกาลเวลามานานเพียงใด แก่นแท้ของกฐินก็ยังคงเป็นประเพณีที่แสดงถึงความศรัทธา ความเลื่อมใส และความสามัคคีของพุทธศาสนิกชน ดังนั้น ประเพณีกฐินจึงไม่เพียงเป็นการทำบุญตามพุทธบัญญัติเท่านั้น แต่ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา ความศรัทธา และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของสังคมไทย เป็นประเพณีที่ควรค่าแก่การสืบสานและรักษาไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไป

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. มปป. การทอดกฐิน. เข้าถึงจาก https://katin.dra.go.th/history/index

กรมศิลปากร. 2510. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. เข้าถึงจาก https://finearts.go.th/storage/contents/file/NsiBYkTrppTZdZs0nPcUxO89poRuiq6N73eUZ74B.pdf

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 2559. พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. เข้าถึงจาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=849

ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. 2566. การจัดงานกฐิน ความเป็นมาของกฐินสามัคคี. เข้าถึงจาก https://www.denadelivery.com/content/7653/etc8

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มปป. กฐิน. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B4%E0%B8%99

ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร. 2555. จารึกพ่อขุนรามคำแหง. เข้าถึงจาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/49

สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์. 2509. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. เข้าถึงจาก https://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/view/18453-โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์. มปป. ประเพณีทอดกฐิน. เข้าถึงจาก https://cultural.wu.ac.th/todkatin

อาวุธ เงินชูกลิ่น. 2545. คำนำเรื่องโคลงพระราชพิธีทวาทศมาสนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์. เข้าถึงจาก https://vajirayana.org/โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส/คำนำ

Loading

Scroll to Top