เล่าเรื่องดนตรีมังคละ จังหวัดพิษณุโลก

ประเจิด  เศรษฐธัญการ อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.เมือง จ.พิษณุโลก เรียบเรียง

🔸เรื่องมังคละที่จะพูดในวันนี้เป็นเรื่องของดนตรีมังคละที่ผมทำขึ้นเองกับมือ ทุกเรื่องสร้างขึ้นเองกับมือ และที่สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างจะเล่าเรื่องให้ฟังเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกทุกท่าน จะเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดนตรีมังคละก่อน

🔸เริ่มต้นดนตรีมังคละของเราได้เรื่องราวมาจากเอกสารฉบับแรก เอกสารฉบับแรกที่เราได้ก็คือ จากบันทึกระยะทางไปเมืองพิษณุโลกของสมเด็จพระเจ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เสด็จมาเมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2444 นับถึงจนถึงทุกวันนี้คำนวณได้ว่าเป็นเวลา 117 ปีแล้ว ที่พระองค์ท่านเสด็จมา ท่านเสด็จมาตรวจตราดูหุ่นขี้ผึ้งจำลองขององค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถที่ วัดเบญจมบพิตร ขณะที่ท่านเสด็จมาทางเรือได้ผ่านวัดสกัดน้ำมัน ซึ่งทางทีมงานของชาวพิษณุโลกที่ได้คอยต้อนรับเสด็จท่านอยู่ ท่านได้ตรัสถามว่าได้ยินเสียงกลองชนิดหนึ่งไม่รู้ว่ากลองชนิดนี้เป็นกลองประเภทใด เจ้าอาวาสวัดสกัดน้ำมันจึงได้กล่าวให้ฟังว่า กลองที่ได้ยินนั้นเป็นกลองของจังหวัดพิษณุโลก เรียกว่า กลองมังคละ ไว้สำหรับในขบวนแห่แล้วเจ้าอาวาสวัดสกัดน้ำมันก็ได้เล่าเรื่องให้พระองค์ท่านทราบพอประมาณ หลังจากนั้นท่านได้เสด็จมาถึงเมืองพิษณุโลกได้ตรวจตราหุ่นขี้ผึ้งจำลององค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชเรียบร้อยแล้วก็เสด็จขึ้นพลับพลาที่ประทับ (ซึ่งอยู่ศาลากลางที่ตั้งแรกเดิม)

🔸ต่อมาพญาเกศาเจ้าเมืองพิษณุโลกได้กราบทูลว่า ดนตรีมังคละพร้อมจะแสดงการถวายให้ทอดพระเนตรแล้ว จากนั้นมาวงดนตรีมังคละก็ได้แสดงถวายให้ระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินได้รับชมและฟังเป็นครั้งแรก และเพลงที่ใช้ในการแสดงนั้นชื่อว่า” เพลงนมยานกทบแป้ง” เพลงนี้เป็นแรกเริ่มที่ได้เผยแพร่และเพลงนมยานกทบแป้ง มีหลายชื่อบางวง ก็เรียกว่า เพลงสาวน้อยประแป้ง จังหวะของเพลงนี้ได้พัฒนามาจากเพลงไม้สี่หรือเพลงครู

🔸เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ใช้ฝึกหัดเวลาเล่นดนตรีมังคละเป็นครั้งแรก   การหัดก็จะทำโดยจับมือลูกวงนั่งอยู่ข้างหลัง มือซ้ายจับมือสำหรับตีกลองมังคละหน้าเล็ก ส่วนมือขวาจับมือที่กำไม้ตีกลองมังคละ  เพลงสี่จังหวะ ปะ เท่ง เท่ง ปะ เท่ง เท่ง ปะ ปะ เท่ง เท่ง ปะ เท่ง เท่ง ปะ นี่คือจังหวะเพลงไม้สี่หรือเพลงครู ถ้าใครจะฝึกหัดดนตรีมังคละจะต้องเริ่มด้วยเพลงไม้สี่ก่อนเสมอ เพลงนมยานกระทบแป้ง พัฒนามาจากเพลงไม้สี่อาจจะต่อท้ายดัดแปลงไปอีกประมาณว่า ปะ เท่ง เท่ง ปะ เท่ง เท่ง ปะ พี่เท่ง พี่เท่ง ปะ พี่เท่ง พี่เท่ง  ซึ่งแต่ละวงชื่อเหมือนกันแต่อาจจะเล่นไม่เหมือนกันแล้วแต่ความถนัดของแต่ละวงตามที่ฝึกซ้อมกันมาไม่มีผิด – ไม่มีถูก เพราะแต่ละวงนั้นจะมีครูฝึกหัดให้

🔸สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงได้ฟังท่านไม่เคย สันทัศน์เสียงดนตรีมังคละมาก่อนและมาได้ยินเป็นครั้งแรก เสียงเพลงมันรัวโกรกๆๆๆๆ ดังไปหมด กรมพระยาฯ เอ่ยขึ้นว่า หนวกหู และได้ให้เป็นเงินแล้วบอกให้กลับบ้านไป นี่เป็นผลลัพธ์จากการที่เอาดนตรีมังคละมาต้อนรับเสด็จ ครั้งแรกคือ  การโดนขับไล่กลับบ้าน และกล่าวต่อไปอีกว่าสำหรับวงมังคละแล้วกรมพระยาเจ้าฟ้านริศรานุวัติวงศ์ได้ตรัสไว้ว่าให้เป็น  เบญจภาคีเครื่อง 5 ซึ่งประกอบด้วย 5 สิ่ง มี ปี่ กลองยืน กลองหลอน  กลองโกรกที่เรียกกันว่า กลองมังคละ แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า กลองโกรก และสุดท้ายก็คือ ฆ้อง ทั้ง 5 อย่างนี้ รวมเรียกว่า เบญจภาคีเครื่อง 5

🔸วงดนตรีมังคละที่ได้เคยสัมผัสและเล่นมานั้นได้เกิดมาจากแรงบันดาลใจ จากอาจารย์อนงค์  นาคสวัสดิ์ ซึ่งอาจารย์อนงค์ท่านเป็นหัวหน้าภาคนาฏศิลป์และดนตรี แรงบันบาลใจก็คือท่านได้เห็นวงดนตรีมังคละเล่นแต่เป็นไม้สี่เดิม ๆ อาจารย์อนงค์จึงได้มาจินตนาการคิดท่ารำจากเพลงดนตรีมังคละขึ้นมาได้ 4 ท่าคือ ท่าเจ้าชู้ไก้แจ้  ท่าเจ้าชู้ยักษ์  ท่าป้อ และ  ท่าเมิน  รวมไปถึงการแต่งกาย อาจารย์อนงค์ ก็ได้คิดการแต่งกายในการรำดนตรีมังคละขึ้นมาเช่นกัน  การแต่งกายผู้หญิง  นุ่งผ้าซิ่นใส่เสื้อแขนกระบอก
3 ส่วน ส่วนผู้ชายใส่เสื้อคอกลมและนุ่งกางเกงขาก๊วย   มีผ้าขาวม้าพาดบ่าและคาดเอว การแต่งกายนักรำมังคละชายและหญิง ได้แนวคิดมาจากการแต่งกายของชาวมอญ สมัยนั้นผ้าขาวม้าที่มาพับไว้บนบ่ามาจากชาวมอญ ในครั้งนั้นอาจารย์อนงค์ก็ได้ให้ประกอบท่ารำ 4 ท่าพร้อมเล่นเข้าด้วยกันกับดนตรีมังคละ

🔸ต่อมาทางเราก็ไม่สามารถที่จะหานักดนตรีมาเล่นได้เพราะนักดนตรีก็เริ่ม  อายุมากขึ้น  ซึ่งก็ได้คิดกันว่าเราน่าจะหานักดนตรีใหม่แต่เอาดนตรีเดิมของเราโดยไม่ต้องไปหานักดนตรีวงอื่นโดยเล่นกันเอง และก็ได้ไปพบกับ คุณลุงประพจน์ คชนิล ที่บ้านมะตูม เขาได้กล่าวว่ามีลุงคนหนึ่งชื่อลุงอยู่เขาสามารถทำเครื่องดนตรีมังคละได้ ทางเราจึงได้ไปหาลุงอยู่และให้เขาทำเครื่งดนตรีมังคละขึ้นมาให้ 1 ชุด พอได้เครื่องดนตรีกลองมังคละครบ 1 ชุดแล้ว เราก็ได้เชิญให้ลุงประพจน์ มาฝึกหัดซ้อมเพลงดนตรีมังคละให้และครั้งแรกที่หัดเล่นก็เป็นนักศึกษาปี 2 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามของเราเองครั้งนั้นไม่ได้เรียกดนตรีไทย เรียกกันว่า ดนตรีนักศึกษา พอฝึกหัดเล่นเก่งแล้วก็ออกรับงานต่าง ๆ กันเรื่อย ๆ มา พอได้ประมาณครึ่งปีนักศึกษาปี 2 ได้จบการศึกษาหาทางเราไม่มีคนสืบทอดดนตรีมังคละต่อจึงได้ปรึกษากันและได้คัดเลือกเอาคนที่อยู่ในสถาบันของเราและคนที่จะสามารถอยู่กับวงดนตรีมังคละของเราได้นานจากนั้น เราจึงเชิญให้ลุงประพจน์ มาฝึกหัดดนตรีมังคละให้กับคนที่ได้คัดเลือกไว้ หลังจากนั้นก็สืบทอดกันอยู่ได้นานตลอดเรื่อยๆ มา มีงานรับแขกบ้านแขกเมืองก็ได้จัดแสดงดนตรีมังคละ จากนั้นก็มีงานเรื่อย ๆ มาจนกระทั่งดนตรีมังคละมีชื่อเสียงในจังหวัดพิษณุโลก

🔸ต่อด้วยเรื่องผลงานที่ประสบความสำเร็จของวงดนตรีมังคละที่เกี่ยวข้องกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินคนแรก ผมกับอาจารย์ครองศักดิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้รับหนังสือเชิญให้คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เกี่ยวกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านส่งไปร่วมชิงรางวัลที่กรมศิลปากรเป็นคนจัดขึ้นมา ผมจึงได้ส่งรายชื่อ อาจารย์ประพจน์ คชนิล ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกได้ถูกเชิญให้ไปรับเหรียญที่ระลึกเชิดชูเกียรติกับใบประกาศนียบัตร  ผมกับอาจารย์ครองศักดิ์ได้พาลุงประพจน์ ไปรับเหรียญเชิดชูเกียรติกับประกาศนียบัตรที่ตำหนักสวนจิตรลดา ผมอาจารย์ครองศักดิ์และลุงประพจน์เป็นครั้งแรกของดนตรีมังคละจังหวัดพิษณุโลกที่ได้รับเหรียญที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพฯ ต่อจากนั้นมาก็ได้มีการรับงานเรื่อย มา งานใหญ่ ๆ ก็ได้ถูกเชิญให้เล่นถวายรับเสด็จพระเทพฯประมาณ 4 – 5 ครั้งได้ครั้งเมื่อพระองค์ท่านเสด็จมาจังหวัดพิษณุโลก จนกระทั่งท่านได้ตรัสว่า มาอีกแล้วหรือวงดนตรีมังคละ เหตุเพราะท่านทรงจำได้นั่นเอง  และมีอีกงานใหญ่ที่ได้รับเกียรติมากเป็นของสมเด็จย่าชื่องาน ไร่สาแม่ฟ้าหลวง วงดนตรีมังคละของทางเราได้ถูกเชิญให้ไปแสดงถวาย และทางวงดนตรีมังคละของเราได้แต่งกายเป็นแบบชาวเหนือ ผมได้เชิญหัวหน้าวงมังคละที่มีชื่อเสียงดัง ๆ หลายวงมาร่วมแสดงด้วยประมาณ 4 – 5 วง ก่อนแสดงจนกระทั่งถึงพิธีไหว้ครู มีเหตุเกิดขึ้นหลายอย่าง คนตีกลองโกรกตีแรงจนกระทั่งไม้หักไปครึ่งอัน  เสร็จสิ้นพิธีการงานทางเราก็ได้เดินทางกลับ และได้มีโอกาสไปเล่นดนตรีมังคละถวายหน้าอนุสาวรีย์เจ้าพระยาเม็งราย ชาวเมืองละแวกนั้นได้แห่กันมาดูกันมากมาย พอเล่นเสร็จก็ได้เดินทางกลับ งานแม่ฟ้าหลวงที่ปรากฏอย่างเช่น  งานเพลงกลองก้องโลก โดยนักกลองของฝรั่งเศสที่เป็นนักกลองระดับโลกได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยและได้ทราบข่าวว่าเมืองไทยมีกลองหลายชนิดเขาได้เชิญกลองไปเล่นโชว์และหนึ่งในนั้นก็มีกลองมังคละของจังหวัดพิษณุโลกด้วย  และอีกงานหนึ่งที่ได้มีโอกาสได้ไปแสดงดนตรีมังคละ คือ วันของกระทรวงมหาดไทยเป็นที่รำลึกถึงกระทรวงมหาดไทยครบ 100 ปี  และจากนั้นท่านผู้ว่าจังวัดพิษณุโลกได้มาเชิญเราให้ไปเล่นดนตรีมังคละให้ท่านดู ท่านได้เสนอยากลองหัดเล่นบ้างจึงมาให้ขอร่วมเล่นด้วยโดยมีครูประพจน์เป็นผู้หัดสอนให้ท่าน

🔸ต่อมาเรื่องสมเด็จพระเทพฯได้ให้สร้างหอสมุดสยามราชกุมารี พอสร้างเสร็จถึงวันจัดพิธีการเปิดทางเราได้เป็นเกียรติที่ได้รับหนังสือเชิญให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามของเราจัดทำเครื่องดนตรีมังคละไปถวายแด่พระเทพฯ พระองค์ท่านทรงต้องการกลองมังคละไปไว้ที่ตำหนักของพระองค์ท่านและทางเราจึงได้จัดทำเครื่องดนตรีมังคละขึ้นมาใหม่ 1 ชุดเพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน  พอถวายชุดกลองมังคละแด่พระองค์ท่านเสร็จเรียบร้อยแล้วจากนั้นกลองมังคละของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามของเราก็ได้อยู่ในพระตำหนักของพระเทพฯ เป็นมาและมีรูปภาพที่ระลึกตอนถวายกลองมังคละแด่พระเทพฯ

🔸กลองมังคละส่วนมากมักจะพบที่อำเภอพรหมพิราม บ้านกรับพวง และที่อำเภอศรีภิรมย์ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านสวน จังหวัดสุโขทัย และผมก็ได้เชิญวงดนตรีมังคละต่าง ๆ มาประกวดแข่งขันกัน การประกวดครั้งแรกจัดขึ้น คณะกรรมการได้ยกให้  วงของนายประพจน์  คชนิล ได้รางวัลชนะเลิศเพราะเพลงปี่ของครูเป็นเพลงที่เสียงหวนไม่เหมือนใคร และไม่สามารถแกะเป็นตัวโน๊ตได้ และจากนั้นได้นำวงดนตรีมังคละ 10 กว่าวงมาประกวดแข่งขันกันอีกมากมาย ทุกครั้งในการแข่งขันผมได้เป็นกรรมการในการตัดสินวงดนตรีมังคละและครั้งสุดท้ายที่ผ่านมาผมได้นำดนตรีมังคละของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามไปร่วมเข้าประกวดและคิดลีลาท่ารำในการเล่นแต่ละเพลง สุดท้ายก็ได้ท่ารำต่างๆ ให้มีคนตีกลองมังคละ และมีคนร่ายรำมังคละจนประสบความสำเร็จ ดนตรีมังคละของเราได้เผยแพร่ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ หลายแห่ง ส่วนจังหวะกลองที่เล่นกันในวงก็นำเอาท่า เพลงข้ามรับข้ามส่ง มาเล่น สำหรับชื่อเพลงดนตรีมังคละมีชื่อมากมายประมาณ 20 – 30 เพลง แต่วงของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามเราได้ถ่ายทอดเพลงออกมา 10 เพลงเท่านั้น เพราะเล่นยากกว่าจะเล่นเข้าวงได้แต่ละเพลง เพลงบางเพลงไม่ได้ตีตรงหน้ากลอง ตีส่วนขอบกลองก็มี เช่น เพลง คางคกเข็ดเขี้ยว จับ กรับ จับ กรับ พี่เท่ง พี่เท่ง  จับ กรับ จับ กรับ พี่เท่ง พี่เท่ง ไม่ได้ตีที่หนังกลองแต่ตีตรงขอบกลองแทน เป็นการตีกลองที่พัฒนาไปในรูปแบบตีต่างจากเดิม

🔸สำหรับเพลงมังคละเป็นการตั้งชื่อตามความเป็นอยู่ของคนในสมัยก่อน ซึ่งเพลง ครุฑราชเหยียบกรวด เพลงนำนาคเข้าโบสถ์ลุงประพจน์คิดขึ้นโดย เพลงไม้สี่ เพลงที่เล่นครั้งแรกก็คือ เพลงนมยานกทบแป้ง ความหมายถึงผู้หญิงในสมัยก่อนที่ยังเป็นสาวอยู่มีผ้าสไบปิดหน้าอกมิดชิด ส่วนคนที่แต่งงานแล้วมีลูกมีสามีแล้วไม่ค่อยได้ใส่เสื้อเป็นสาวแก่กันเวลาฝัดข้าวด้วยมือ พอฝัดเสร็จแล้วก็จะเอามาร่อนให้ข้าวมารวมกันอยู่ตรงกลางเวลากระทบกันทำให้เห็นถึงภาพของผู้หญิงที่ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า เป็นที่ติดตาของครูมังคละเลยตั้งให้ชื่อว่า เพลงนมยานกทบแป้ง และนี่ก็คือที่มาของเพลงนมยานกทบแป้ง

อาจารย์ประเจิดเล่าเกี่ยวกับประวัติดนตรีมังคละพิษณุโลกในการประชุมเครือข่ายและปราชญ์ท้องถิ่นมังคละจังหวัดพิษณุโลก 26 พ.ค. 61 ภาพโดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม

ภาพประกอบ : ห้องเอกลักษณ์ 1 พิพิธภัณฑ์เมืองพิษณุโลก

Loading

Scroll to Top