สุวรรณี สุคนธา: ชีวิตและผลงานของนักเขียนแห่งเมืองพิษณุโลก
สุวรรณี สุคนธา เป็นนามปากกาของ สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง นักเขียนผู้มีชื่อเสียงแห่งเมืองพิษณุโลก สุวรรณีเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2475 ในครอบครัวของนายย้อยและนางแตงอ่อน โดยมีพี่ชายหนึ่งคน
สุวรรณีเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนผดุงนารี – กวีพิทยา ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่างจนสำเร็จอนุปริญญา และด้วยความรักในศิลปะ เธอได้ศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ วิชาเอกจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรม-ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชีวิตครอบครัวของสุวรรณีเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอสมรสกับอาจารย์ทวี นันทขว้าง ทั้งคู่มีบุตร-ธิดารวม 4 คน ได้แก่ ดวงตา นันทขว้าง, วงศ์เมือง นันทขว้าง (น้ำพุ – ผู้ล่วงลับ), เลื่อมประภัสสร นันทขว้าง และเบญญา นันทขว้าง ต่อมาในชีวิตสมรสครั้งที่สอง เธอได้แต่งงานกับศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต
จุดเริ่มต้นในแวดวงวรรณศิลป์
สุวรรณีเริ่มต้นเส้นทางนักเขียนด้วยการเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “จดหมายถึงปุก” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารในปี พ.ศ. 2508 โดยใช้นามปากกาว่า “สุวรรณี” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนนามปากกาเป็น “สุวรรณี สุคนธา” จากนั้นในปี พ.ศ. 2512 ได้เขียนเรื่องยาวเรื่องแรกชื่อ “สายบ่หยุดเสน่ห์หาย” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงานนวนิยายอีกมากมาย เช่น
“เขาชื่อกานต์” เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตผ่านตัวละคร การคอรัปชันที่ผูกโยงกับการเมืองและความเหลื่อมล้ำทางสัมคมที่มีความสมจริง นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัล สปอ. นวนิยายดีเด่น ในปีพ.ศ. 2513
(ภาพ ปกหนังสือนวนิยาย เขาชื่อกานต์) ที่มาภาพ https://raremeat.blog/เขาชื่อกานต์-1973/
“พระจันทร์สีน้ำเงิน” นวนิยายที่นำเสนอมุมมองผ่านการผสมผสานระหว่างความเป็นจริง โดยสุวรรณีร้อยเรียงเรื่องราวจากโครงเรื่องชีวิตจริงของน้ำพุลูกชายของเธอ มาผสานกับจินตนาการได้อย่างงดงาม นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2519
(ภาพ ปกหนังสือนวนิยาย พระจันทร์สีน้ำเงิน) ที่มาภาพ http://www.khornhangsue-pro.com/product/831/พระจันทร์สีน้ำเงิน-โดย-สุวรรณี-สุคนธา
“เรื่องของน้ำพุ” ผลงานที่สร้างจากเรื่องจริงของน้ำพุ ลูกชายที่ติดยาเสพติด และเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 18 ปี เรื่องนี้สะท้อนความรักและความผูกพันระหว่างแม่และลูก และที่สำคัญคือชี้ให้เห็นมหันตภัยร้ายของยาเสพติดด้วย นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จนถึงปัจจุบัน
(ภาพ ปกหนังสือ เรื่องของน้ำพุ ฉบับตีพิมพ์ปี 2517) ที่มาภาพ https://thongsaibook.lnwshop.com/product/5292/เรื่องของน้ำพุ
นอกจากนี้นวนิยายหลายเรื่องของสุวรรณี สุคนธา ยังได้รับการดัดแปลงเป็บบทภาพยนตร์และบทละครออกอากาศทางโทรทัศน์สถานีต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น
“ทองประกายแสด” นวนิยายที่สะท้อนชีวิตของหญิงสาวในสังคมไทย ผ่านตัวละครที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์และความคิด สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมและความขัดแย้งในจิตใจของตัวละคร ได้รับการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์และบทโทรทัศน์มากถึง 7 ครั้ง ในปี พ.ศ.2517, 2522, 2524, 2531, 2544, 2555 และ 2567
(ภาพ แผ่นประชาสัมพันธ์ละคร ทองประกายแสด พ.ศ.2567 ทางช่อง One31) ที่มาภาพ https://www.one31.net/shows/detail/544
“คนเริงเมือง” นวนิยายถ่ายทอดชีวิตของพริ้ง งซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา โดยไม่เคยสนใจความรู้สึกของคนอื่น ถูกเปรียบเทียบกับช้อยพี่สาวแท้ ๆ ซึ่งทั้งชีวิตมีแต่คำว่าให้ และคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นก่อนเสมอ นอกจากนี้ เนื้อเรื่องยังเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นบทภาพยนต์และบทโทรทัศน์มากถึง 5 ครั้ง ในปี พ.ศ.2523 (2 ครั้ง), 2531, 2454 และ 2560
(ภาพ แผ่นประชาสัมพันธ์ละคร พริ้ง คนเริงเมือง พ.ศ.2560 ทางช่อง 7) ที่มาภาพ https://www.ch7.com/drama/218768
“เขาชื่อกานต์” นวนิยายแนวก้าวหน้าวิพากษ์ปัญหาของสังคมไทย เช่น ปัญหาความยากจน มาเฟียร์หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการคอร์รัปชัน ผ่านตัวละครหมอ “กานต์” หมอหนุ่มผู้มีอุดมการณ์เพื่อความถูกต้อง หมอกานต์อุทิศตนไปทำงานแพทย์ในชนบท จนเกิดความขัดแย้งกับข้าราชการท้องถิ่น และลงเอยโดยการถูกลอบยิงจนเสียชีวิต นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นบทภาพยนต์และบทโทรทัศน์มากถึง 4 ครั้ง ในปี 2516, 2523, 2531 และ 2554
(ภาพ ภาพยนตร์เรื่องเขาชื่อกานต์ ฉายเมื่อปี 2516) ที่มาภาพ https://www.fapot.or.th/main/heritage/view/67
บั้นปลายชีวิต
สุวรรณี ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร “ลลนา” ซึ่งเป็นนิตยสารยอดนิยมในสมัยนั้น และขณะที่งานเขียนของสุวรรณีกำลังโลดแล่นอยู่บนเส้นทางวรรณศิลป์ หรือแม้แต่บนเส้นทางของแผ่นฟิล์ม อย่างเรื่อง “เรื่องของน้ำพุ” ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มีกำหนดฉายในเดือนมิถุนายน 2527
(ภาพ ภาพยนตร์เรื่องน้ำพุ ฉายเมื่อปี 2527) ที่มาภาพ https://fapot.or.th/main/heritage/view/71 และ https://www.facebook.com/Entertainretro/photos/a.329022861998669/175864033981220/?type=3
แต่แล้ววงการวรรณกรรมก็ได้สูญเสียนักเขียนชั้นครูอย่างสุวรรณี สุคนธา ไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 ที่นางสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง หรือนักเขียนนามปากกา “สุวรรณี สุคนธา” ออกไปจ่ายตลาด และถูกคนร้ายแทงเสียชีวิต จากนั้นนำศพไปทิ้งไว้บริเวณสนามแข่งรถจักรยานยนต์ หลังหมู่บ้านสวนสยาม ถ.รามอินทรา วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2527 ตำรวจสามารถตามจับกุมคนร้าย 2 คนได้ คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มอายุเพียง 17 ปี ซึ่งคนร้ายให้การสารภาพว่าต้องการนำเงินไปซื้อยาเสพติด คดีนี้นับเป็นคดีสะเทือนขวัญของสังคมไทย และเป็นการสูญเสียนักประพันธ์มากฝีมือในแวดวงวรรณศิลป์ด้วย
(ภาพ พาดหัวข่าวจับฆาตกรฆ่าสุวรรณี สุคนธา) ที่มา https://www.facebook.com/RetroCityStoryTelling/photos/a.123120795964755/237940191149481/?type=3
บางถ้อยคำจากนักเขียน ถึง…สุวรรณี สุคนธา
“อุดมการณ์ที่ประจักษ์ในงานเขียนของสุวรรณี สุคนธา คือจิตใจนักสู้ชีวิตด้วยใจเบิกบาน สูงพ้นความหยาบกระด้าง ความเห็นแก่ตัว เสน่ห์ปากกาของเธอคงอยู่แม้กาลเวลาผ่านเลยไป เพราะเธอสร้างงานด้วยใจศิลป และสำนึกในสิทธิมนุษย์ที่มิได้ถูกพันธนาการด้วยค่านิยมปลอม” นิลวรรณ ปิ่นทอง เขียนถึงสุวรรณี สุคนธา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527 (หน้า 53)
“ผมเคยประทับใจกับสำนวนภาษาของ คุณสุวรรณี สุคนธา ที่มีความละเอียดอ่อน นุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์ มาตั้งแต่ ‘สวนสัตว์’ ที่เคยอ่านสมัยเรียนมัธยมและเป็นหนังสือนอกเวลาในวิชาภาษาไทย สำหรับเรื่องนี้ก็เปิดฉากมาด้วยฉากและชีวิตของ จ้อยกับหมึก เด็กน้อยสองคนพี่น้อง ที่นายชิด นางจวง พ่อและแม่ ต่างเป็นชนชั้นแรงงาน ต้องอพยพร่อนเร่ จนมาปักหลักอยู่ในพื้นที่รกร้างย่านคลองประปา ในเขตตำบลบางซ่อน ณ เวลานั้นทำให้ได้เห็นภาพชีวิตในยุคสมัยนั้น ไม่ต่างกับจิตรกรเอกผู้ระบายภาพและแปรเฉดสีอันเพริศแพร้วให้ผู้อ่านได้สัมผัสเป็นรสแห่งตัวอักษร” หมอกมุงเมือง เขียนถึงสุวรรณี ผ่านคอลัมน์บรรณาภิรมย์ ของเว็บไซต์อ่านเอา (anowl)
บรรณานุกรม
ไทยรัฐออนไลน์. (2561). ฆ่าโหดเจ้าของนิยายพระจันทร์สีน้ำเงิน แทงในเก๋ง-ทิ้งศพสนามแข่ง ย้อนรอย 34 ปีก่อน. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567, จาก https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1196125
ประพันธสาส์น. (2567). ทำเนียบนักประพันธ์ สุวรรณี สุคนธา. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567, จาก
https://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/362
ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. (มปป.). อนุสรณ์งานศพ สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง. กรุงเทพฯ: บูรพาคอมพิว.
พงศกร. (มปป.). สุวรรณี สุคนธา. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567, จาก https://anowl.co/anowlrod/readclassic/part29/
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปะ. (มปป.). ภาพเหมือน ‘สุวรรณี สุคนธา’ โดย ทวี นันทขว้าง. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567, จาก
https://www.finearts.go.th/museumnationalgallery/view/39781-ภาพเหมือน–สุวรรณี-สุคนธา–โดย-ทวี-นันทขว้าง
หมอกมุงเมือง. (มปป.). สายบ่หยุดเสน่ห์หาย. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2567, จาก https://anowl.co/anowlrod/ban-naa-pi-rom/pirom017/