สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ขอเล่าเรื่องราวของธงเต่า (บางคนเรียก ธงตะพาบ) ที่ใช้ประดับในงานทอดกฐินว่ามีความเชื่อ และความหมายเชิงสัญลักษณ์อย่างไร ที่สำคัญคือธงเต่าตามความหมายดั้งเดิมไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับสัญญะแห่งความร่ำรวย หรือเมตตามหานิยมแบบธงจระเข้และธงนางมัจฉานะคะ แต่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ล้วน ๆ เลยล่ะคะ
เต่า หมายถึง สติ ความอดทน ดุจดังเต่าที่เมื่อพบภัยใด ๆ ก็จะหดอวัยวะทั้งหมดซ่อนในกระดอง อีกนัยหนึ่งเต่าหมายถึงการมีอายุยืนด้วย
.ธงเต่า ใช้ประดับในที่โล่ง เช่น หน้าวัด หน้าศาลา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รับรู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว โดยทางวัดจะปลดธงเต่าลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นช่วงหมดฤดูกาลทอดกฐิน เนื่องจากมีข้อกำหนดตามหลักพุทธศาสนาว่าวัดหนึ่งจะรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และรับได้เฉพาะในช่วงกฐินกาลเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันลอยกระทง
ทุกวันนี้เรามักจะเห็นเพียงธงจระเข้ และธงนางมัจฉาปรากฎในงานกฐิน ส่วนธงเต่า (และธงตะขาบ) พบเห็นได้น้อย จะมีเป็นบางวัดที่ยังคงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ ซึ่งในปัจจุบันจึงมีการพลวัตความหมายของธงเต่าให้กลายเป็นยันต์ค้าขายร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมาด้วย แต่ในฐานะพุทธศาสนิกชนหากเราทราบความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แท้จริง จะทำให้เข้าใจนำไปสู่การสืบสานแนวปฏิบัติดั้งเดิมให้คงอยู่อย่างงดงามต่อไป