วันนี้สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จะพาทุกท่านมารู้จักกับความหมายของธงตะขาบ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ธง ที่เรามักพบเห็นตามวัดในช่วงมีพิธีปวารณาทอดกฐิน
ตะขาบ หมายถึง ความโกรธ เป็นการเปรียบพิษของตะขาบเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิต ความโกรธหรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เกิดขึ้นง่าย เกิดขึ้นเร็ว แต่มีทางที่จะรักษาให้หายได้
การที่วัดประดับ “ธงตะขาบ” เป็นสัญลักษณ์ว่าวัดนี้มีคนมาจองเป็นเจ้าภาพกฐินแล้ว ดังนั้นหากผู้ใดประสงค์จะมาปวารณาทอดกฐินก็ให้ผ่านไปวัดอื่นเลย ไม่ต้องเสียเวลาเข้ามาถามไถ่กับทางวัด ปัจจุบันธงตะขาบพบเห็นได้น้อย จะมีเป็นบางวัดที่ยังคงรักษาธรรมเนียมเก่าอยู่เท่านั้น
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามในฐานะเจ้าภาพงานทอดกฐิน เน้นการสืบทอดปฏิบัติงานกฐินให้ถูกต้องตามประเพณี จึงนำแนวปฏิบัติดั้งเดิม คือ การประดับ “ธงกฐิน” ที่กำลังสูญหายไปให้กลับคืนมาในสังคมไทย บริเวณวัดราชมณฑป ซึ่งเป็นวัดที่ได้รับผ้ากฐินในนามของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามในปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ 27 ตุลาคม 2567 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปีมะโรง โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป